“บิ๊กป๊อก”สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก” เน้น ระบบไฟฟ้า-ระบายน้ำ มั่นใจ ระบบเตือนภัยไร้ปัญหา วันที่ 2 ม.ค. 2562 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุ “ปาบึก” (PABUK)" ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 02 มกราคม 2562 เมื่อเวลา 4.00 น. ของวันนี้ (2 ม.ค. 62) พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.7 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากไว้ด้วย โดยมีผลกระทบดังนี้ ในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 5 มกราคม 2562 ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม 2562 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 2 มกราคม 2562 เวลา 11.00 น. (ลงชื่อ) นายภูเวียง ประคำมินทร์ (นายภูเวียง ประคำมินทร์) อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบา ถึงการเตรียมการรับมือพายุโซนร้อนปาบึกที่จะเคลื่อนผ่านพื้นที่ภาคใต้ ช่วงวันที่ 3-5 ม.ค.นี้ ว่า จากการประเมินของกรมอุตุนิยมวิทยา ผลจากพายุโซนร้อนจะทำให้คลื่นสูงประมาณ 5 เมตร จึงได้มีการเตรียมความพร้อม สั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) รับมือ ในเบื้องต้นมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานรับมือเรื่องไฟฟ้า ซึ่งในพื้นที่ ประชาชนและท้องที่สามารถช่วยกันป้องกันในเบื้องต้นได้ เช่น ดูแผ่นป้ายตามเสาไฟ เพื่อลดความเสี่ยง และหากมีฝนตกหนักอาจเกิดปัญหาเรื่องการระบายน้ำ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการระบายน้ำด้วย "ยืนยันว่าระบบเตือนภัยไม่มีปัญหา เพราะไทยมีทั้งระบบและบุคลากรที่ดีมากในระดับอาเซียน ซึ่งสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นจะรุนแรงหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับธรรมชาติว่าจะหนักแค่ไหน"พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว