วันที่ 14 ม.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางสาวรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม แถลงความพร้อมการลงทะเบียนบ้านนี้ไม่เทรวม: ลดขยะลดค่าธรรมเนียม ทางแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay ระบบรองรับการจัดเก็บขยะจากประชาชนที่ร่วมคัดแยกขยะ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... และชวนคนกรุงเทพฯ ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม: ลดขยะลดค่าธรรมเนียม” ทางแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay เริ่มลงทะเบียนแจ้งเข้าร่วมโครงการล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.68 พร้อมสร้างความมั่นใจประชาชนแยกแล้ว กทม.ไม่เก็บรวม โดยมีคณะผู้บริหาร สำนักสิ่งแวดล้อม ภาคีเครือข่าย เข้าร่วม

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของ กทม.ที่จะมีการแยกขยะกันทุกบ้าน อย่าไปเน้นที่เรื่องค่าธรรมเนียม 20 บาท เป็น 60 บาท หลายคนอาจไม่ได้สนใจ แต่จริงๆแล้วที่สำคัญกว่าคือเป็นการช่วยโลก ช่วยเมือง ช่วยสิ่งแวดล้อม เพราะการให้แยกขยะลดค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นแรงจูงใจ ผลประโยชน์ที่ได้มากกว่า 40 บาทที่ลดไปอย่างมหาศาล ปัจจุบันกทม.เสียค่าเก็บและจัดการขยะ 7,000 ล้านบาทต่อปี แต่กทม.จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียง 500 ล้านบาท/ปี หัวใจคือไม่ใช่เก็บเพิ่มค่าขยะให้ได้ 7,000 ล้านบาท แต่ต้องลดค่าใช้จ่ายในการจัดการให้เหลือ 500 ล้านบาทให้ได้ ซึ่งถ้าสามารถลดตรงนี้ไปได้ จะนำไปทำเรื่องการศึกษา สาธารณสุขให้ดีขึ้น

 

ที่ผ่านมาขยะในกรุงเทพฯ มีประมาณวันละ 1 หมื่นตัน เกือบ 50% เป็นเศษอาหาร ทิ้งรวมกับขยะอื่นที่รีไซเคิลได้ ต้องทำให้เกิดการแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ให้เหลือขยะที่นำไปจัดการน้อยที่สุด โดยขยะจะมาจาก 2 ส่วนคือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มโครงการไม่เทรวม มี ผู้ประกอบการรายใหญ่ เข้าร่วมแล้วกว่า 4,600 ราย สามารถลดขยะไปได้ 10% ต่อไปจะเน้นที่ผู้ประกอบการรายย่อยรวมถึงประชาชนทั่วไป โดยตั้งเป้าลดขยะให้ได้อีก 1,000 ตัน/วัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเป็นเรื่องของนิสัยที่เราเปลี่ยนได้ เราทุกคนสามารถเริ่มแยกขยะได้ทันที ขอให้พวกเราช่วยกันขยะจะลดลงได้ อย่างไรก็ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (ฉบับใหม่) นี้ สภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติฯ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.67 และจะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเษก 180 วัน ประมาณปลายปี 2568

 

ด้านนายพรพรหม กล่าวถึงการเตรียมระบบรองรับว่า สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) ได้เตรียมระบบรองรับการรับชำระค่าธรรมเนียมหลังจากที่ประชาชนคัดแยกขยะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบและชำระค่าธรรมเนียมมูลฝอย รวมถึงเข้าร่วมโครงการ บ้านนี้ไม่เทรวม: ลดขยะลดค่าธรรมเนียม การลงทะเบียนแบ่งเป็น 2 รูปแบบตามประเภทของแหล่งกำเนิด คือ 1. การลงทะเบียนแบบเดียว สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย หมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม/แฟลตที่ไม่มีนินิติบุคคล โดยเจ้าของบ้านหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ BKK Waste Pay กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือลงทะเบียนที่สำนักงานเขตที่บ้านเรือนตั้งอยู่ เริ่มลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.68 เป็นต้นไป และระบบจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.68 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้  บ้านเรือนที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงใส่ขยะเศษอาหารสำหรับ 1 ปีแรก ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะทุก ๆ 3 เดือน สามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานได้แล้ววันนี้ทั้งโนระบบ IOS : https://apps.apple.com/th/app/bkk-waste-pay/id1574454798 และระบบ Android : https://play.google.com/store/apps/details/id-com.wingplus.bkkpersonalap... share

 

2. การลงทะเบียนแบบกลุ่ม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.68 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะเชิญนิติบุคคลมาประชุมเพื่อแจ้งรายละเอียดและแนวทางการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน หลักฐานที่ต้องแนบ เช่น รายงานการประชุมลูกบ้านที่มีมติ รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก และหลักฐานการใช้ประโยชน์ขยะ

 

นางสาววรนุช กล่าวถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 บ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม หากไม่คัดแยกขยะจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 30 บาท) หากคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียมเดือนละ 20 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท) กลุ่มที่ 2 ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน จ่ายค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 20 ลิตร (ค่าเก็บและขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร) และ กลุ่มที่ 3 ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป หรือเกิน 1,000 ลิตร หรือเกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน) จ่ายค่าธรรมเนียม 8,000 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (ค่าเก็บและขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 เมื่อมีการคัดแยกและนำขยะไปใช้ประโยชน์ จะส่งผลให้ปริมาณขยะที่ทิ้งให้กทม.นำไปกำจัดลดลง อัตราค่าธรรมเนียมฯ ในการจัดการขยะก็จะลดลงตามไปด้วย 

 

สำหรับวิธีการจัดเก็บขยะที่คัดแยกแล้ว กทม.ได้จัดระบบรองรับขยะที่ประชาชนคัดแยก ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ให้เทน้ำทิ้งกรองเฉพาะเศษอาหาร นำไปใช้ประโยชน์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก หรือเป็นอาหารสัตว์ หรือใส่ถุงสีเขียวมัดปากถุงให้แน่นทิ้งในถังสีเขียวหรือจุดทิ้งที่เขตกำหนด เพื่อรอสำนักงานเขตเข้าไปจัดเก็บตามรอบเวลา ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดน้ำ ขวดแก้ว ฯลฯ สามารถนำไปขายหรือแยกทิ้งให้กับสำนักงานเขต โดยฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทางซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะรีไซเคิล หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ จัดตลาดนัดรีไซเคิลในชุมชน นอกจากนี้ ได้ประสานกับแอปพลิเคชันรับซื้อหรือรับบริจาคขยะ มารับขยะถึงหน้าบ้าน หรือสามารถขายให้กับร้านหรือรถรับซื้อของเก่า 

 

ขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ กระป๋องแก๊ส/กระป๋องสเปรย์ และยาหมดอายุ เป็นต้น รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน หรือเขียนข้อความติดที่ป้าย นำไปทิ้งในจุดทิ้งขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ในชุมชน หมู่บ้าน สำนักงานเขต หรือฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทางซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะอันตราย หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ ขยะทั่วไป เช่น ซองขนม เศษผ้า แก้วกาแฟ ถุงแกง กล่องโฟม ถุงพลาสติก ฯลฯ ให้รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็น มัดปากถุง ทิ้งลงถังขยะทั่วไปสีน้ำเงิน ในชุมชน/หมู่บ้าน รอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด