ผ่านพ้นมา 1 ปีกับอีกกว่า 3 เดือน เข้าไปแล้ว สำหรับ “สงครามฉนวนกาซา” ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ถึง ณ ชั่วโมงนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแต่ประการใด
แม้ว่าล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ สวมบทพ่อพระ ชนิดพลิกกลับฝ่ามือจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะก่อนหน้านั้น เป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายนี้ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ของอิสราเอล ในการทำสงครามฉนวนกาซาดังกล่าว
โดยการพิกลับตาลปัตรของประธานาธิบดีไบเดนครั้งนี้ มีขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ด้วยการเซย์ฮัลโหล ต่อสายโทรศัพท์มาคุยกับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล พร้อมกับเรียกร้องให้อิสราเอลหยุดยิงในสงครามฉนวนกาซา
ทั้งนี้ มีรายงานมาจากทางทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีไบเดน อยากจะให้อิสราเอลหยุดยิงในสงครามฉนวนกาซาดังกล่าว ก่อนที่เขาจะลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันจันทร์ที่ 20 มกราคมที่จะถึง หรือสัปดาห์หน้านี้
พร้อมกันนั้น ประธานาธิบดีไบเดน ก็อยากจะให้มีส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมลงในพื้นที่ฉนวนกาซา ที่กำลังทนทุกข์ทรมานจากการสู้รบอย่างเหลือประมาณ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ประธานาธิบดีไบเดน คงไม่สมใจตามความมุ่งหวัง เนื่องจากอิสราเอล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นผู้นำสายเหยี่ยวของอิสราเอลรายนี้ ยังไม่บรรลุเป้าหมายหลายประการด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นการกวาดล้างกลุ่มฮามาสของชาวปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซา ที่ยังไม่สิ้นซาก แม้ว่ากองทัพอิสราเอล สามารถสังหารนายยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาส และเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังในเหตุโจมตีอิสราเอลอย่างสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 จนกลายเป็นประกายไฟ ปะทุเป็นเปลวเพลิงแห่งสงครามฉนวนกาซามาตราบเท่าทุกวันนี้ได้แล้วก็ตาม แต่การสู้รบ และปฏิบัติการโจมตีในพื้นที่ฉนวนกาซาก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีเหตุปัจจัยที่ทำให้อิสราเอลใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงครามฉนวนกาซาว่า เพื่อปลดปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอล ที่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอยู่อีกจำนวนหนึ่ง
โดยตัวประกันชาวอิสราเอลข้างต้น ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไปตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 เป็นต้นมา ซึ่งถึง ณ ชั่วโมงนี้ ตัวประกันชาวอิสราเอลก็ยังไม่ทราบชะตากรรมพวกเขา ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่า ตัวประกันชาวอิสราเอลเหล่านั้น ยังมีลมหายใจอยู่หรือไม่?
ลำพังปฏิบัติการโจมตีของกองทัพอิสราเอลในพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ตอนเหนือ ไปจนจรดตอนใต้ ก็สร้างความวิตกกังวลให้หลายๆ ฝ่ายมากพออยู่แล้ว เพราะคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 45,000 คน ส่วนผู้บาดเจ็บมีจำนวนมากยิ่งกว่า รวมถึงผู้สูญหายก็มีจำนวนมากยังมิอาจกำหนดได้แน่ชัด พร้อมกับทำให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา จำนวนกว่า 2.1 ล้านคน ต้องกลายสภาพเป็นผู้อพยพลี้ภัยการสู้รบ ผจญชะตากรรมกับสภาพความเป็นอยู่ ความอดอยาก ยากแค้นสารพัด จากวิกฤติด้านมนุษยธรรมต่างๆ ตามมา ทางฝ่ายอิสราเอล ก็ได้เปิดแนวรบ ฉากสงครามเฟสใหม่ ทั้งในเขตเวสต์แบงก์ และข้ามพรมแดนไปยังประเทศเลบานอน เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกวาดล้าง หรือไม่อย่างน้อยก็ให้ได้ลดทอนประสิทธิภาพทางการสู้รบของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนให้อ่อนแอลง หลังจากที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ที่ถูกยกให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งนี้ มีปฏิบัติการโจมตีต่ออิสราเอลหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจรวด ขีปนาวุธ และโดรนติดอาวุธ สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่อิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคเหนือของอิสราเอล ซึ่งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ข้างต้น ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นประการต่างๆ จากอิหร่าน ในฐานะที่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ด้วยกัน
โดยกองทัพอิสราเอล เริ่มปฏิบัติการในพื้นที่ภาคใต้ของเลบานอน ก่อนรุกคืบไปยังตอนกลาง ลากยาวไปถึงกระทั่งกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน
ผลจากการกวาดล้างปฏิบัติการโจมตีข้างต้น ก็ทำให้กองทัพอิสราเอล สามารถสังหารนายฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ทว่า การสู้รบโจมตีทางทหารระหว่างกันก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป หรือแม้กระทั่งจะมีการทำข้อตกลงหยุดยิงกันชั่วคราว แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงมีเสียงปืนแตกระหว่างกันอยู่เป็นระยะๆ
ทั้งนี้ จากการสงครามเฟสใหม่ของอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ก็ยังลากพ่วงนำไปสู่ปฏิบัติการโจมตีในพื้นที่ที่ถูกระบุว่าเป็นคลังแสง คือ คลังสรรพาวุธต่างๆในซีเรียอีกด้วย จากการที่อิสราเอลระบุว่า อาวุธจากซีเรียเหล่านั้น ถูกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ นำมาใช้โจมตีอิสราเอล
และเมื่อซีเรีย เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน หลังกลุ่มฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม หรือเอชทีเอส โค่นล้มระบอบการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด แห่งซีเรีย จนตัวเขาต้องระเห็จลี้ภัยไปรัสเซีย ก่อให้เกิภาวะช่องว่าง ส่งผลให้อิสราเอล กรีธาทัพเข้าไปในดินแดนส่วนลึกของที่ราบสูงโกลัน ที่อิสราเอลยึดไว้อยู่เดิมโดยทันที ซึ่งจะมีผลสำคัญด้านยุทธศาสตร์ให้กองทัพอิสราเอล สามารถใช้ตรวจการณ์ได้ทั้งในซีเรียและเลบานอน รวมไปถึงจอร์แดน ตลอดจนสามารถใช้เป็นฐานปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายของฝ่ายปรปักษ์ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ราบสูง จนจัดว่าเป็นจุดสูงข่มในทางยุทธศาสตร์
อย่างไรก็ดี อิสราเอลยังต้องระแวดระวังภัยการโจมตีจากกลุ่มกบฏอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ กลุ่มฮูตีในเยเมน ซึ่งกลุ่มกบฏในเยเมนกลุ่มนี้ ได้ปฏิบัติการโจมตีทั้งจรวด ขีปนาวุธ และโดรนติดอาวุธ เข้าไปในดินแดนอิสราเอล จนสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์ให้แก่อิสราเอลหลายครั้งแล้ว คาดการณ์กันว่า ในปี 2025 (พ.ศ. 2568) นี้ อิสราเอลอาจจะเบนเป้าการโจมตีกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่อิหร่านให้การสนับสนุนอย่างหนักหน่วงขึ้น เหมือนกับที่ถล่มฮิซบอลเลาะห์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ชนิดที่บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักรายใหญ่ของอิสราเอล ที่กำลังจะผลัดใบหลังวันที่ 20 มกราคมนี้ ซึ่งนายโดนัลด ทรัมป์ หวนกลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกรอบ ก็อาจจะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางไม่ได้ดีขึ้นมากนัก