วันที่ 14 ม.ค.68 ที่บริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีทางศาสนามหามงคล 3 ศาสนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธี “สมมงคล” มีพระชนมายุ 26,469 วัน เท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี โดยมีทพญ.สุกีรติ กปิลกาญจน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ศาล อัยการ ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมพิธีด้วยความจงรักภักดี

สำหรับในพิธีฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เปิดกรวยกระทงดอกไม้รูปเทียนแพ เบื้องหน้าบรมพระฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย โดยได้รับความเมตตาจาก พระศรีวชิรมุนี เจ้าคณะจังหวัดสตูล เป็นประธานสงฆ์ นำพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล จากนั้น ผู้นำศาสนาอิสลามนำประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร และผู้นำศาสนาคริสต์ นำประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า 

ทั้งนี้เนื่องด้วยวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคลเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง การบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คำนึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในวาระต่าง ๆ เช่น ในวันที่ตรงกับการครองราชย์ มีทั้งโอกาสที่เวียนมาเป็นครั้งแรกมักเรียกว่า “สมมงคล” หมายถึง เสมอกัน หรือ “สมภาคา” บ้าง ถ้าเวียนมาเป็นครั้งที่สองก็เรียกว่า “ทวิภาคา” บ้าง หรือ “ทวีธาภิเษก” บ้าง จะปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีลักษณะนี้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระราชกุศลที่บําเพ็ญถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ 

นอกจากโอกาสวันดำรงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกับวันสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพระราชประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติในอีกหลายวาระ และวาระหนึ่งที่สำคัญ คือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนไปเสมอเท่ากัน และวันที่พระชนมพรรษามากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ล่วงไปแล้วด้วย ถือเป็นภาพลักษณ์แสดงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรําลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณความดีไว้แก่บ้านเมืองให้ราษฎรยึดถือเป็นแบบแผน