วันที่ 14 ม.ค. 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในการพิจารณาเรื่องด่วน ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
ทั้งนี้นายพริษฐ์ ได้เสนอสาระสำคัญของสาระร่างข้อบังคับที่เสนอต่อรัฐสภา คือ การแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 กล่าว่า มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมต่อกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) โดยเสนอปลดล็อคและเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง หรือ สว.สามารถเสนอชื่อบุคคลทั่วไปเข้าร่วมเป็นกมธ. เหตุผลสำคัญเพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมีความรอบคอบรอบด้านมากขึ้น รวมถึงให้บุคคล ภาคประชาสังคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์กับการแก้รัฐธรรมนูญที่มากกว่าสมาชิกรัฐสภา แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาเข้ามามีส่วนร่วม
2.ลดการใช้กระดาษเพิ่มใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์สำหรับงานธุรการของรัฐสภา และ 3. ยกเลิกบทบัญญัติข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ไม่มีความจำเป็นเกี่ยวกับหมวดการปฏิรูปประเทศ และหมวดที่เกี่ยวการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภานั้น พบว่าในการอภิปรายของ สว. รวมถึงสส.พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขในประเด็นการกำหนดให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมเป็นกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ โดยนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. อภิปรายไม่เห็นด้วยในการแก้ไขข้อบังคับข้อ 123 ที่กำหนดให้ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญมาจากรายชื่อที่สมาชิกรัฐสภาเสนอ เท่ากับเปิดทางให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเข้ามาทำหน้าที่ และการกำหนดสัดส่วนให้ประชาชนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าเป็นกมธ. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกมธ.ที่กำหนดให้มี 45 คน ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่กำหนดว่า สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย
“การเสนอแก้ไขแบบนี้เท่ากับว่าจะตั้งใครก็ได้ใน 45 คน ไม่ต้องมีมีสมาชิกรัฐสภาแม้แต่คนเดียวก็ได้ ผมมองว่าไม่เป็นเหตุที่สมควร เพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่และสิทธิแก่สมาชิกรัฐสภา อีกทั้งการเสนอให้มีตัวแทนประชาชนที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญนั้น ผมติดใจในกระบวนการคัดเลือกที่ต้องโปร่งใส ยุติธรรม ไม่ใช่ถูกเลือกเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ว่าการเสนอกมธ.จากประชาชนเป็นเจตนาดี เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม แต่การปฏิบัติและโครงสร้างตั้งกมธ. อาจไม่สมดุล อาจลดทอนอำนาจการถ่วงดุลของสส. และสว. กลับเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีร่างแก้ไขของประชาชนเข้ามาก็ตาม จะทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญถูกชี้นำโดยเสียงข้างมาก” นายพิสิษฐ์ กล่าว
ขณะที่ด้านน.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ สว. กล่าวด้วยความอัดอั้นตันใจ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคนนอกเป็น กมธ. ว่า สส.ที่กำลังคุยอยู่อย่างมากมายตอนนี้ ไม่ได้ฟังเลย ท่านอาจจะมาจากการเลือกตั้งประชาชนเลือกท่านมา 1 คนมีสิทธิ์ เลือก 1 ท่าน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนกลุ่มอาชีพอย่างพวกเรา สว.เข้ามาเหมือนท่าน เราใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ท่านอาจจะลืม ถ้าท่านลืมกลับไปอ่านใหม่อีกรอบได้ สถานภาพของ สส. และสว. เป็นเครื่องรับรอง และยืนยันว่าจะรับผิดชอบต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่ในมือท่านอยู่แล้ว
ตนไม่เห็นด้วยเลย กับการที่ท่านจะให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็น 1 เสียงในคณะ กมธ. ตนเห็นด้วยที่ท่านจะเชิญนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญเข้ามาให้ความเห็นในฐานะของที่ปรึกษา และในส่วนที่เขาเชี่ยวชาญ เนื่องจากนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านั้น อาจจะไม่ต้องรับผิดโดยตรงต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเหมือนกับสถานภาพของ สส. และ สว.
ขณะที่น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.พันธุ์ใหม่ อภิปรายว่า ขอสนับสนุนข้อบังคับการประชุมรัฐสภาฉบับนี้ เพราะคือข้อบังคับของตัวแทนของประชาชนดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ต้องขอขอบคุณพรรคประชาชนที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาข้อบังคับการประชุมที่ต้องเปลี่ยน และข้อบังคับการประชุมข้อที่ 123 ซึ่งถือเป็นหัวใจ เพราะก่อนหน้านี้ข้อบังคับการประชุมไม่มีการเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นกรรมาธิการ แต่สมาชิกก็พูดว่านี่เป็นเขตพื้นที่ เขตอำนาจของเรา เราเปิดให้ประชาชนโดยใช้คำว่าคนนอก ตนคิดว่าประชาชนที่ฟังการอภิปรายอยู่เสียใจอย่างยิ่ง
เมื่อเขาเลือกพวกคุณเข้ามาแล้ว พวกคุณเรียกเขาว่าเป็นคนนอกหรือ ตอนที่คุณจะให้เขาเลือกก็ไปกราบขอคะแนนเขา แต่พอเขาเลือกเสร็จแล้วคุณบอกว่าเขาเป็นคนนอก เขาไม่มีสิทธิ์เข้ามาในวงอำนาจนี้ กำลังหลงผิด และหวงอำนาจกันอยู่หรือเปล่า กำลังกลัวว่าโควตา 1 ใน 3 ที่จะเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นกรรมาธิการร่วมพิจารณารัฐธรรมนูญนั้นจะเบียดบังโควต้าพรรคของท่าน น่าเสียใจ ตนอยากจะให้ทุกท่านเปลี่ยนจากคำว่าบุคคลภายนอก เป็นบุคคลสำคัญ เพราะประชาชนนั้นคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และถ้าเราจะพิจารณาในเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกรัฐสภาเข้ามา แล้วเหตุใดจึงกรีดกันไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนรวมในการที่จะพิจารณษกฎหมายสูงสุด ตรงนี้จึงมองว่าสมาชิกรัฐสาหลายท่านกังวลจนเกินเหตุในการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ควรเปิดใจให้กว้างยอมรับพัฒนาการนี้
ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยควรรับหลักการ แม้มีข้อถกเถียงในการตั้งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ได้หรือไม่สามารถพิจารณาในชั้นกมธ.ได้ เพื่อหาข้อสรุปทางกฎหมาย อย่างไรก็ดีตนมีข้อสังเกตด้วยว่าสามารถตั้งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาได้หรือไม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สามารถตั้งบุคคลภายนอกมาเป็นที่ปรึกษาของกมธ.ได้ ชั้นนี้รับหลักการได้ และตั้งกมธ.พิจารณาในสาระบัญญัติของข้อบังคับที่เขียนไว้มาตรา 123 และ 123/1 เพราะวิสามัญเป็นตัวกำหนดไว้ว่าสามารถตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ได้” นพ.ชลน่าน อภิปราย
จากนั้นนายพริษฐ์ อภิปรายสรุปด้วยว่าการประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาติดในการตัดเงื่อนไขให้กมธ.พ้นจากตำแหน่งกรณีที่ขาดจากสมาชิกภาพของสภาที่เป็นสมาชิกนั้น เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับกรณีที่บางพรรคหรือสว. เสนอบุคคลภายนอกเป็นกมธ. แต่หากเขียนไว้ไว้ จะมีปัญหาทางกฎหมายทันที ที่บอกว่าอาจไม่มีสส.สว.เป็นกมธ.เลย นั้นอาจเป็นไปได้ กรณีที่พรรคการเมืองและสว. ไม่เสนอสมาชิกของสภาของตนเองได้ แต่หากเห็นว่าควรมีสมาชิกรัฐสภาอยู่ในกมธ. ในโควต้าของสว. ไม่ต้องเสนอคนนอก เพื่อปิดปัญหา
อย่างไรก็ดีหากสว. หรือ สส. จะเสนอชื่อใครต้องขออนุมัติจากสมาชิกรัฐสภา หากพบว่ามี กมธ.ที่น้อยไป สามารถแก้ไขได้ หากต้องการหลักประกันสามารถรับหลักการแล้วไปแก้ไขในชั้นกมธ.ได้ กรณีที่เสนอให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นกมธ. นั้นเป็นกรณีพิเศษที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน ส่วนจำนวน และถ้อยคำนั้นตนดึงมาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
จากนั้น เวลา 12.00 น. ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 415 ต่อ 185 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ที่ประชุมลงมติรับหลักการแห่งร่างข้อบังคับการประชุม ฉบับที่ ... พ.ศ. ... จากนั้นตั้ง กมธ.วิสามัญ จำนวน 18 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าการตั้ง กมธ.ในครั้งนี้ มีรายชื่อที่น่าสนใจ ได้แก่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต สส.พิษณุโลก รองประธานสภาฯ ถูกเสนอชื่อในสัดส่วนพรรคประชาชนด้วย ขณะที่ในการตั้งกมธ.สัดส่วนของวุฒิสภานั้น มีความวุ่นวายมาก โดยพบว่ามีประเด็นขัดแย้งระหว่าง สว. 2 กลุ่ม ทำให้นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติตัดสิน แต่นายวันมูหะมัดนอร์ ขอให้สว. หารือกันภายในก่อนเสนอต่อที่ประชุม และสั่งพักการประชุมเพื่อตกลงกันก่อน