“อิ๊งค์” ข้องใจ!ถูกร้อง ปมหนี้ 4 พันล้าน “นิติกรรมอำพราง” ยัน แจ้ง ปปช.แล้ว ถูกกม.ทุกอย่าง ลั่น ไม่กังวลซ้ำรอย “ทักษิณ” คดีซุกหุ้น ยันไม่กังวล ช่วยหาเสียงท้องถิ่นหมิ่นเหม่ผิดกม. ด้าน “ทวี” แนะ “รพ.ตำรวจ” ส่งเวชระเบียนรักษา “ทักษิณ” ให้ ป.ป.ช. ส่วน“มวลชน”บุกตร. ทวงถามเวชระเบียนทักษิณ ขู่ยกระดับการชุมนุม 21 ม.ค.นี้ หากไม่ได้รับคำตอบ


เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 13 ม.ค.68 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหนี้สิน 4,000 ล้านบาทของนายกฯ ที่เป็นการกู้ยืมกันในครอบครัว มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่ว่า “มันเป็นหนี้ระหว่างเครือญาติ” ยืนยันว่า ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย แถลงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปหมดทุกอย่างแล้ว ฉะนั้นจะอำพรางอะไรได้ ยืนยันว่าเป็นหนี้ระหว่างเครือญาติ มีตั๋วมีอะไรเรียบร้อยหมด 

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่ากรณีนี้ จะเป็นการซ้ำรอย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีซุกหุ้นภาค 2 นายกฯ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย 

เมื่อถามถึงกรณี นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี ให้บริษัท วินน์ แคปปิตอล จำกัด กู้เงิน โดยที่ไม่เป็นกรรมการบริษัท จะมีปัญหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ เราแจ้งรายละเอียด แบบละเอียดยิบ สามารถตรวจสอบได้ทุกอย่าง แล้วคำถามอะไร ถ้า ป.ป.ช. มีเรื่องที่ถามมา ก็ยินดี ตนพร้อมตอบอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องกังวลอะไร จะตีความอะไรอย่างไรทางที่บ้าน ทางทนายก็แจ้งทุกอย่างหมดเกลี้ยง

เมื่อถามว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จะไปร้องเรื่องนี้ กังวลหรือไม่ นายกฯ หัวเราะในลำคอ ก่อนกล่าวว่า “เรืองไกร อ๋อ แล้วสมมติว่า ตัวดิฉันเองก็ไม่ได้แม่นกฎหมาย ถ้ามีการข่มขู่ว่าจะต้องจ่ายนั่นนี่ เพื่อจะไม่ฟ้อง เพื่อจะอะไร อ้างลูกเรียนต่างประเทศผิดกฎหมาย ข้อไหนบ้างละ เผอิญไม่ค่อยแม่นเรื่องกฎหมายเท่าไหร่ ต้องช่วยกันแจ้งนิดนึง ไม่ทราบเหมือนกันว่า ผิดกฎหมายข้อไหนไหมคะ ดิฉันไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่เรื่องนี้”

น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวถึงกรณีการเป็นผู้ช่วยหาเสียง นายกอบจ. พรรคเพื่อไทย ของนายทักษิณ ที่อาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้งใช้นโยบายรัฐหาเสียงท้องถิ่น ว่า นายทักษิณผู้ช่วยหาเสียงการที่จะพูดถึงนโยบายท้องถิ่นและบอกว่าจะสนับสนุนนโยบายภาพรวมอันนี้เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว จริงๆแล้วไม่ได้กังวลอะไร แต่สมมุติว่ามีอะไรที่จะผิดก็ต้องชี้แจงเป็นไปตามกระบวนการไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง 

เมื่อถามว่า การแจกเงิน 10,000 บาทในกลุ่มผู้สูงอายุในวันที่ 29 ม.ค.นี้ ขณะที่การเลือกตั้งนายกอบจ. คือวันที่ 1 ก.พ.นี้ จึงถูกมองว่าอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์กันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “โอ้ย” ก่อนกล่าวต่อว่า เรากำหนดนโยบายเฟส 2 มานานแล้ว ซึ่งประชาชนก็ถามว่าเฟส 2 จะมากี่โมง เราก็ตอบเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วว่าจะเป็นช่วงตรุษจีนนี้ ซึ่งเราก็ดูเรื่องงบประมาณและเรื่องการจ่ายเงินด้วยไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่แล้ว เพราะจริงๆแล้วการเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีมาเรื่อยๆอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่า ไม่เกี่ยวค่ะ ไม่เกี่ยวแน่นอน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมบุกไปทวงเวชระเบียนรักษานายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องขอแต่ยังไม่ได้รับว่า ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าถึงขั้นมีการตั้งเรื่องแบบนี้ หน่วยงานต่างๆ ต้องให้ข้อมูล และในส่วนของกรมราชทัณฑ์ เราให้ความร่วมมือหากขอพยานหลักฐานมา และเท่าที่ทราบเมื่อนายทักษิณเดินทางเข้าประเทศ ก็มีเวชระเบียนมาจากต่างประเทศด้วยว่าป่วยเป็นอะไร ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ดังนั้นตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความร่วมมือให้ข้อมูลให้ครบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ในการพิจารณาคดี ของ ป.ป.ช.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลตำรวจ เคยส่งเวชระเบียนของนายทักษิณมาให้กระทรวงยุติธรรมหรือไม่ พ.ต. อ.ทวี กล่าวว่า มี ตอนที่รักษาครบ 120 วัน มีหลักฐานทางการแพทย์ส่งมาให้ เพื่อประกอบการพิจารณาให้รักษาต่อ ถ้าทาง ป.ป.ช.มีการขอ เราก็ต้องให้ไป  โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องเป็นผู้พิจารณา แต่ส่วนตัวคิดว่าตอนนี้ทางโรงพยาบาลตำรวจก็ต้องพิจารณาให้ ป.ป.ช. เช่นกัน แต่น่าจะอยู่ระหว่างการดูข้อกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่ถึงขั้นตั้งเรื่องไต่สวน แต่ตอนนี้ตั้งเรื่องไต่สวนแล้วควรจะให้ 
เมื่อถามว่า สามารถอ้างสิทธิ์ของผู้ป่วยได้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ต้องดูข้อกฎหมาย แต่ตนคิดว่า ถ้าเราทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายควรจะส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณา

ส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.), ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม เข้ายื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สอบถามกรณีที่แพทยสภาได้ทำหนังสือถึงโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อช่วงเดือน ธ.ค.67 เพื่อขอหนังสือแจ้งอาการป่วย และเวชระเบียนของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้าและออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ที่ขณะนั้นเป็นผู้ป่วยรักษาตัวที่ชั้น14 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 15 ม.ค. นี้ในการทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร กลับมายังคณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจของแพทยสภา โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 จำนวน 30 นาย ตำรวจสันติบาล 20 นาย และตำรวจปทุมวัน 10 นาย คอยดูแลความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีกลุ่มมวลชนสวมใส่เสื้อสีเหลืองพร้อมมือตบ ป้ายข้อความต่างๆ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยประวัติการรักษาของอดีตนายกฯ
จากนั้น นายพิชิต ไชยมงคล และนัสเซอร์ ยีหมะ นายใจเพชร กล้าจน แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) และกองทัพธรรม ได้ยื่นหนังสือโดยมีพ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ รองผู้บังคับการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายตำรวจเวรอำนวยการเป็นตัวแทนรับหนังสือ

ด้านนายพิชิต กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดในการ ติดตามส่งเวชระเบียนประวัติการรักษาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาให้แพทยสภา ซึ่งจะครบกำหนดภายในอีก 2 วัน เบื้องต้นวันนี้จะไม่มีการพักค้างแรมที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างแน่นอน โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้มีการติดตามทวงถามความคืบหน้ามาโดยตลอดแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงเกรงว่าเรื่องดังกล่าวจะเงียบหายไป และหากครบกำหนดแล้วตัวเองจะเดินทางไปที่แพทยสภาเพื่อสอบถามว่าได้รับเอกสารดังกล่าวแล้วหรือไม่ และหากพบว่ายังไม่ได้รับคำตอบหรือข้อมูล ทางกลุ่มจะยกระดับเดินทางไปสอบถามข้อมูลกับน.ส.แพทองธาร ที่ทำเนียบฯ ในวันที่ 21 ม.ค.2568 เพราะมองว่าน.ส.แพทองธาร เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งเรื่องดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กลับไม่มีคำตอบ

นายพิชิต เปิดเผยว่า ดังนั้น ในฐานะที่นางสาวแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคำชี้แจง อีกทั้งเวชระเบียนประวัติผู้ป่วยมีความสำคัญมาก เพราะมีความสำคัญในการพิสูจน์ประวัติการรักษาที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. หรือแพทยสภา นำไปพิสูจน์ทราบข้อกล่าวหาของนายทักษิณชินวัตรซึ่งถูกกล่าวหาก่อนหน้านี้ พร้อมยืนยันว่า การเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้เป็นการเรียกร้องเพื่อให้ต้องการนำข้อมูลมาเปิดเผยกับกลุ่ม แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างชัดเจน

นายใจเพชร กล่าวว่า วันนี้ตัวเองพร้อมผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 70 คนได้เดินทางมาเป็นกำลังใจ ให้กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อผดุงความยุติธรรมดูแลความสงบสุขของประเทศชาติ เพราะหากประเทศไม่มีความยุติธรรม ก็จะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ ส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจ แต่หากกระบวนการยุติธรรมถูกรักษาไว้ทุกฝ่ายก็จะมั่นใจ เพราะตัวเองมองว่ากรณีนี้หากนายทักษิณมีความบริสุทธิ์ใจจริงก็จะต้องส่งข้อมูลการรักษามาให้ตามการร้องขอ แต่หากไม่ส่งแสดงว่ามีความไม่ซื่อสัตย์ต้องเข้าข่ายกระทำความผิด โดยหากไม่มีความคืบหน้าทางกลุ่มจะยกระดับการทำหน้าที่อาจจะมีการพักแรมที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะเกิดความยุติธรรมในประเทศไทย เบื้องต้นมีการพูดคุยกับทุกกลุ่มหากพบว่าความยุติธรรมถูกแทรกแซง จะต้องมีกระบวนการในการติดตามยุติธรรมต่อไป ซึ่งส่วนตัวมองว่าการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้มองที่จำนวนผู้มาเข้าร่วม แต่มองว่าความสำเร็จคือเกิดความยุติธรรมขึ้นในกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ ภายหลังการยื่นหนังสือเสร็จสิ้น นายพิชิต ได้พูดคุยกับกลุ่มมวลชนที่มาร่วมแสดงจุดยืนที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่จะมีการสลายตัวแยกย้ายกัน และได้นัดหมายกันใหม่ในวันที่ 15 มกราคมนี้ ที่แพทยสภาเพื่อสอบถามความคืบหน้าต่อไป
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 14 ม.ค.นี้ โดยมีวาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่...) พ.ศ...เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ เป็นผู้เสนอ

ผู้สื่อข่าวรายว่าสำหรับสาระสำคัญที่เสนอแก้ไขเพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมรัฐสภาให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงได้ตัดเนื้อหาที่เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ อย่างไรก็ดีในประเด็นของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ระบุต่อเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกรัฐสภาเข้าเป็นกรรมาธิการตามที่สมาชิกรัฐสภาเสนอได้ และเพิ่มเนื้อหาใหม่ คือ กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอ ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาและผ่านชั้นรับหลักการ  ระบุให้ตัวแทนของผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสิทธิได้เป็นกรรมาธิการ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมาธิการทั้งหมดด้วย