เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์  จัดงานรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตร   ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Day) ปี 2568 ครั้งที่ 1

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มกราคม 2568 ที่บริเวณศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนบ้านห้วยโป่งพัฒนา หมู่ที่ 14 ตำบลวังชมภู อำเภอเมืองเพชรบูรณ์  นายสมพงษ์  ทองหนูนุ้ย นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตร   ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Day) ปี 2568 ครั้งที่ 1  อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์  โดยมี  นางสาวกรองกาญจน์  กาญจนวิบูลย์ เกษตรอำเภอเมืองเพชรบูรณ์  กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ในการนี้ ได้รับการสนับสนุนและดำเนินงานขับเคลื่อนการจัดงานรณรงค์สร้างการรับรู้ และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ( Green Day) ปี 2568 จากนายวรรลภย์  ทองบุดดี เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ นางสาวลักขณา  พรหมเศรณี  หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช  สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์  ตลอดจนเกษตรกร จำนวน 100 คน เข้าร่วมงาน ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยอบอุ่น  

ทั้งนี้   เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางแผนในการจัดการพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาจากหมอกควันจากการเผาโดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมลพิษทางอากาศที่ประเทศไทยประสบทุกปี ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5.

นางสาวกรองกาญจน์  กาญจนวิบูลย์   เกษตรอำเภอเมืองเพชรบูรณ์  กล่าวว่า     ด้วยในช่วงต้นปี ประเทศไทยมักจะประสบปัญหาฝุ่นละออง และ หมอกควัน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูแล้ง อากาศแห้งและเย็น ประกอบกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง  ๆ ที่ก่อให้เกิดควัน ซึ่งกิจกรรมภาคการเกษตรก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   จึงได้กำหนดมาตรการดำเนินงานภายใต้การรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และ ฝุ่นละออง  ปี 2568 เพื่อเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการจัดการทั้งในระดับพื้นที่และในระดับการส่งเสริมการเกษตรเพื่อช่วยลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดังนี้  1)  มาตรการสร้างความตระหนักรู้และป้องปราม จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่การเพาะปลูกพืชที่เสี่ยงต่อการเผา (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย) เพื่อวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงเผา ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและจุดความร้อนเพื่อติดตามและประเมินความเสี่ยง พร้อมประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น 2) มาตรการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าโดยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ หรือการแปรรูปวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า 3) มาตรการปรับลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นพืชหมุนเวียนหรือพืชมูลค่าสูง 4) มาตรการไม่เผาเรารับซื้อ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลิกเผา 5) มาตรการไฟจำเป็น ควบคุมและบริหารจัดการการเผา ในการขออนุญาตตามข้อกำหนดและมาตรการของแต่ละจังหวัด  6) การประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรเกี่ยวกับผลกระทบจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุอย่างถูกวิธี เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษวัสดุ

สำหรับการจัดงานวัน Green Day-ของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ในวันนี้ ประกอบด้วย 1. การจัดฐานเรียนรู้  จำนวน 4 ฐาน ดังนี้   ฐานเรียนรู้ที่ 1 การตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์และปรับโครงสร้างดิน โดย สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ , ฐานเรียนรู้ที่ 2 การปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังทำนา โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์ , ฐานเรียนรู้ที่ 3 การอัดก้อนตอซังฟางข้าว โดย บริษัท คูโบต้า เพชรบูรณ์ จำกัด ร่วมกับ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านห้วยโป่งพัฒนา ,ฐานเรียนรู้ที่ 4 การเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าว (เพาะเห็ด, อาหารปลา) โดย วิสาหกิจชุมชนคนหัวเห็ดเพ็ดชะบูน และสำนักงานประมงอำเภอเมืองเพชรบูรณ์   2.การบรรยายให้ความรู้และการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่าง  ๆ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ,  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ , สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์ , มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ , องค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู  , บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด , บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอเทค จำกัด และ บริษัท โตโยต้า เพชรบูรณ์ จำกัด.