“โสภณ” ชี้ รวมพลังแก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการได้ผลจริง ดึงผู้เสพคืนครอบครัว สังคมได้เกินครึ่ง "มูลนิธิลูกเติ้ง" มอบเงิน 9 แสนให้ รพ.ปรับปรุงอาคาร แยกผู้ป่วยทั่วไปออกจากผู้ป่วยยาเสพติด และหน่วยงานปราบมยาเสพติด 1.2 แสน
.
วันที่ 13 ม.ค.68 นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และประธานชมรมคนทำดีเพื่อพ่อของแผ่นดิน พร้อมด้วยนายศักดิ์ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ , นายรัฐพล ซารัมย์ ประธานมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ร่วมกับนายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ สาธารณสุข, ผอ.โรงพยาบาล ทั้ง 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ลำปลายมาศ คูเมือง พุทไธสง หนองหงส์ นาโพธิ์ และ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ได้แถลงความก้าวหน้าโครงการ "รวมพลังรักศรัทธา แก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ" ในพื้นที่ 6 อำเภอ ณ ห้องประชุมชั้น 3 โรงพยาบาลคูเมือง อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ มูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการด้านต่างๆ ส่วนนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และภาคเอกชน ก็ร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาผู้เสพยาบ้าที่นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม การลักทรัพย์ ความผิดปกติทางจิต และปัญหาสังคมอื่นๆ
ผลการดำเนินโครงการนำร่อง ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ได้เริ่มดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ตัดวงจรผู้ค้าเพื่อลดจำนวนผู้เสพรายใหม่ บำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพรายเก่า โดยมีการดำเนินงานดังนี้
ฝ่ายปกครองและตำรวจ ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้ค้ายาเสพติด จับกุม 40 คดี พบผู้ค้า 63 ราย ยึดยาบ้า 438,496 เม็ด และยาไอซ์ 0.3 กรัม ฝ่ายปกครองร่วมกับสาธารณสุขค้นหาและคัดกรองผู้เสพในพื้นที่ 22 หมู่บ้านนำร่องใน 6 อำเภอ โดยมุ่งเน้นกลุ่มประชากรอายุ 13-60 ปี จากจำนวนผู้เข้ารับการคัดกรองทั้งหมด 6,300 คน พบผู้เสพยาเสพติด 501 คน คิดเป็น 8% ของกลุ่มประชากรเป้าหมาย ทั้งนี้ หากดำเนินการคัดกรองในประชากรทั้งหมด (ประมาณ 150,000 คน) คาดว่าจะพบผู้เสพสูงถึง 12,000 คน ซึ่งเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขในปัจจุบันจะรองรับได้ จึงต้องบูรณาการกับเครือข่ายชุมชนและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง ถึงจะสามารถบำบัดรักษาผู้เสพยาได้อย่างมีคุณภาพ
สำหรับแนวทางการแก้ไขดูแลบำบัดรักษา มีดังนั้น 1.กลุ่มผู้เสพที่ไม่มีอาการทางจิต ดูแลโดยชุมชนล้อมรักษ์ (Community-Based Treatment: CBTx) ฝ่ายปกครองร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ติดตามและบำบัดในระยะเวลา 16 สัปดาห์ กรณีที่ผู้เสพไม่มารายงานตัวหรือตรวจพบปัสสาวะเป็นบวก จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์บำบัดระดับอำเภอ (ศูนย์ CI) 2.กลุ่มผู้เสพที่มีอาการทางจิต ส่งรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยมีฝ่ายปกครองและตำรวจดูแลความปลอดภัย การรักษาแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะฉับพลัน (1-14 วัน) รักษาอาการก้าวร้าว อาการถอนพิษยา และอาการทางจิต ระยะกลาง (15-30 วัน) เฝ้าระวังภาวะถอนพิษยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจ ระยะยาว (60-120 วัน) ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ พร้อมฝึกอาชีพและเตรียมความพร้อมกลับสู่ชุมชน เนื่องจากศูนย์บำบัดมินิธัญรักษ์ในปัจจุบันไม่เพียงพอ โรงพยาบาลแต่ละแห่งจึงมีแผนขยายศูนย์บำบัดเพิ่มเติม และในอนาคตจะแยกผู้ป่วยจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา
หลังจากแถลงผลการดำเนินโครงการฯ ประธานมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ยังได้มอบเงินสนับสนุนให้โรงพยาบาลปรับปรุงอาคาร เพื่อแยกผู้ป่วยทั่วไปออกจากผู้ป่วยที่เสพยาเสพติด จำนวน 900,000 บาท และมอบเงินให้หน่วยงานที่มีผลงานปราบปรามยาเสพติดอีกจำนวน 120,000 บาท
ด้าน นายโสภณ กล่าวว่า โครงการ "รวมพลังรักศรัทธา แก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ" เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อป้องกัน ปราบปราม บำบัดฟื้นฟู ฝึกทักษะอาชีพ สร้างภูมิคุ้มกัน ผลการดำเนินการ 2 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีผู้เข้าบำบัดฟื้นฟู 700 คน สามารถดึงกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังมีการฝึกทักษะฝีมือ เพื่อให้นำไปประกอบอาชีพ ไม่หวนกลับมาเสพซ้ำ และในปี 2568 ยังจะดำเนินการต่อเนื่อง แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป โดยจะเน้นการสร้างแรงจูงใจ หากหมู่บ้านไหนปลอดยาเสพติด เป็นหมู่บ้านสีขาว จะมีเงินรางวัลไปพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งเป้าหมายหลักเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด สิ่งที่อำเภอต่างๆ สะท้อนคือ ต้องการแยกผู้ป่วยจากการติดยาเสพติด ออกจากผู้ป่วยทั่วไป แต่ยังติดขัดเรื่องสถานที่และงบประมาณ จึงอยากให้รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้
"การดำเนินโครงการนี้ไม่ใช่การหาเสียง แต่เป็นการบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าห่วง เพราะปัจจุบันผู้เสพมีทั้งเด็กระดับประถม และผู้สูงอายุกว่า 70 ปี จึงมองว่าไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ ควรจะร่วมมือกันทุกภาคส่วน ที่สำคัญเป็นการสร้างความสามัคคีและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม อยากให้รัฐบาลหรือผู้บริหารระดับประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และท้าให้ลงพื้นที่มาพิสูจน์ หากอยากรู้ว่าสิ่งที่ทำได้ผลจริงหรือไม่" นายโสภณ กล่าวทิ้งท้าย