กรมชลประทาน เดินหน้าป้องกันความเค็มรุกแม่น้ำบางปะกง ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ยันความเค็ม บรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องชาวแปดริ้วและปราจีนบุรี รอดพ้นวิกฤตมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งนี้
วันที่ 13 ม.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้เฝ้าระวังค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง พบว่าค่าความเค็มรุกตัวเร็วกว่าปกติ โดยค่าความเค็ม 1 กรัมต่อลิตร รุกตัวถึงจุดเฝ้าระวังบริเวณโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา อ.บ้านโพธิ์ (ระยะทาง 35 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ) ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2567 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงครึ่งเดือน จึงได้ปรับแผนตามความเหมาะสมของสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการควบคุมเขื่อนบางปะกง ตามแผนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มบางปะกงแล้ว โดยในระยะแรกใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งทางตอนบน ระบายน้ำลงมาไล่ความเค็ม ดังนี้
อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ธ.ค. 67 ในอัตราวันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.)
อ่างเก็บน้ำคลองสียัดและอ่างเก็บน้ำคลองระบม ตั้งแต่วันที่ 5 - 19 ธ.ค. 67 ในอัตราวันละ 2 ล้าน ลบ.ม.
และอ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 67 - 13 ม.ค. 68 ในอัตราวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.
ส่งผลให้สามารถควบคุมค่าความเค็ม ในบริเวณจุดควบคุมต่างๆ ตามช่วงเวลาที่กำหนด ได้แก่
จุดควบคุมที่ 1 เขื่อนบางปะกง (ระยะทาง 66 กิโลเมตร จากปากแม่น้ำ) สามารถชะลอความเค็มให้รุกตัวช้าลง ซึ่งจุดนี้มีบางช่วงเวลาที่ค่าความเค็มต่ำกว่า 1 กรัมต่อลิตร ทำให้พื้นที่เหนือน้ำสามารถรับน้ำเข้าพื้นที่ได้ตามการขึ้นลงของน้ำทะเล จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 67
ส่วนจุดควบคุมที่ 2 บริเวณปลายคลองบางขนาก (ระยะทาง 109 กิโลเมตร จากปากแม่น้ำ) สามารถควบคุมค่าความเค็มไม่ให้รุกตัวถึงจุดนี้ก่อนวันที่ 10 ม.ค. 68 ทำให้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกงในเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอคลองเขื่อน และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถใช้น้ำเพาะปลูกได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ
ด้านจุดควบคุมที่ 3 บริเวณวัดบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ระยะทาง 115 กิโลเมตร จากปากแม่น้ำ) มีแผนควบคุมค่าความเค็มถึงวันที่ 1 ก.พ. 68 ซึ่งค่าความเค็มสูงสุดวันนี้ (13 ม.ค. 68) วัดได้ 0.8 กรัมต่อลิตร (ควบคุมไม่ให้เกิน 1 กรัมต่อลิตร) และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดในวันที่ 13-15 ม.ค. 68 (ตามคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ)
สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้วางแผนรับมือด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ในช่วงวันที่ 5-9 ม.ค. 68 เป็น 1.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน (เดิมระบาย 0.6 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน) คาดว่าจะช่วยป้องกันความเค็มรุกได้จนถึงในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุด แต่หากจุดควบคุมที่ 3 ไม่สามารถควบคุมความเค็มได้จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 68 ได้วางแผนสำรองให้โครงการชลประทานปราจีนบุรี แจ้งเตือนเกษตรกรและหน่วยงานท้องถิ่น สร้างทำนบชั่วคราวเพื่อกักน้ำและกันน้ำเค็มจากแม่น้ำปราจีนบุรีเข้าพื้นที่ต่อไป