วันที่ 13 ม.ค.68 ที่บริเวณท่าเรือวัดติโลกอาราม อ.เมือง จ.พะเยา ผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษา ได้ลงเรือจัดขบวนเพื่อนำบาตรหลวง ( บาตรขนาดใหญ่ )ใส่ข้าวใหม่ ขบวนเรือสุ่มหมากสุ่มพลู ขบวนแห่เทพบุตร เทพธิดา และขบวนแห่เรือเครื่องถวายเครื่องสักการะเพื่อนำไปถวายแด่พระเจ้าตนหลวง ณ วัดศรีโคมคำ อ.เมือง จ.พะเยา โดยใช้เส้นทางทางน้ำจากวัดติโลกอาราม ไปตามร่องน้ำอิงเดิม - บ่อน้ำกลางกว๊านพะเยา - หน้าอนุสาวรีย์พญางำเมือง – อาคารสูบน้ำการประปาฯและขึ้นที่ท่าน้ำวัดศรีโคมคำหลังพระอุโบสถกลางน้ำ ก่อนที่จะบาตรหลวงพร้อมสุ่มหมากสุ่มพลูเครื่องบริวาลถวายแด่พระเจ้าตนหลวง

ประเพณีตานข้าวใหม่ เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น ภาคเหนือที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ ถวายแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองให้ผลผลิตงอกงามได้ผลบริบูรณ์ดี และอุทิศแก่บุพการีผู้มีพระคุณ โดยผ่านพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ในช่วงเดือน 4 ของภาคเหนือ ซึ่งนิยมจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เรียกว่าประเพณี "สี่เป็ง" ประเพณีตานข้าวใหม่ เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สะท้อนถึงความผูกพันระหว่างเกษตรกร ธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เคยเลือนหายไปแต่มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ทำการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในปี 2550 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปวัฒนธรรมในประเพณีตานข้าวใหม่ และ ระดับสืบสานต่อยอดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในประเพณีตานข้าวใหม่ให้อยู่คู่คนพะเยาตลอดไป