อะไรที่มากไป แทนจะเป็น “คุณ” ก็กลับกลายเป็น “โทษ”

ไม่เว้นกระทั่ง “อาหาร” หนึ่งในปัจจัยสี่ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์เรา ซึ่งหากว่า อาหารถูกปรุงรสจนมีรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด หรือหวานจัด ก็ตาม

โดยเหล่าบรรดานักโภชนาการ ต่างออกมาเตือน ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ หากรับประทานอาหารที่มีรสจัดข้างต้น ด้วยโรคร้ายต่างๆ ที่จะมารุมเร้าสารพัด

อย่างรสเค็มจัด ก็จะส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น ซึ่งเหล่านักโภชนาการ ต่างพากันออกมาเตือนอยู่เป็นระยะๆ

เช่นเดียวกับรสหวานจัด บรรดานักโภชนาการ ก็ออกมาเตือนถึงโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จากการรับประทานอาหารหวานจัด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัดกันอยู่เนืองๆ

น้ำตาลก้อน (Photo : AFP)

โดยก่อนหน้านี้ ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยลุนด์ ในเมืองมัลโม ประเทศสวีเดน ออกรายงานผลการศึกษาติดตามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน หรือดื่มเครื่องดื่มรสหวานเป็นประจำ

รายงานข้างต้น ซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปลายปีที่ผ่านมา ระบุว่า อาหารและเครื่องดื่มรสหวาน มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยยิ่งถ้ารับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มรสหวานมากเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นรสหวานจัด และรับประทาน หรือดื่มบ่อยๆ เป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากเท่านั้น จากการที่ศึกษาติดตามกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 69,705 คน ด้วยกัน

นอกจากโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว อาหารและเครื่องดื่มรสหวาน ก็ยังเป็นสาเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคต้องล้มป่วยด้วยโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคภาวะสมองขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจเต้นพลิ้ว หรือหัวใจต้นเร็วและมีจังหวะไม่สม่ำเสมอ ตลอดจนภาวะหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพอง

บรรดาอาหารและขนม ที่ปรุงด้วยน้ำตาล หรือสารให้ความหวานต่างๆ ในปริมาณค่อนข้างสูง (Photo : AFP)

พร้อมกันนี้ ทางศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยลุนด์ ยังได้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผู้บริโภครสหวานจัดกับผู้บริโภครสหวานน้อย ปรากฏว่า ผู้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มรสหวานน้อย ก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะล้มป่วยด้วยบรรดาภาวะโรคต่างๆ เหล่านั้นน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

ทางด้าน องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ หรือฮู (WHO : World Health Orga nization) ออกรายงานมาเตือนถึงอันตรายของภาวะโรคร้ายต่างๆ ข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจและหลอดเลือดว่า แต่ละปีโรคร้ายนี้คร่าชีวิตประชาคมโลกมากกว่า 17.9 ล้านคน ซึ่งจากตัวเลขข้างต้น ก็สะท้อนให้เห็นว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด ถือเป็นโรคระดับมัจจุราชเงียบโรคหนึ่ง ที่ประชาคมโลกต้องพึงระวังกันเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

ล่าสุด นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์โภชนาการ มหาวิทยาลัยทัฟส์ ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ออกรายงานผลการศึกษาติดตามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มรสหวานจัด เช่น น้ำอัดลม ชากาแฟที่เติมน้ำตาลอย่างขนานใหญ่ รวมไปถึงเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ที่มีกลูโคสปริมาณสูงในแต่ละหน่วยเป็นต้น เป็นประจำ ก่อนตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ธรรมชาติบำบัด เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2025 (พ.ศ. 2568) นี้เอง

ทางนักวิชาการข้างต้น ระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัดเป็นประจำ ทำให้ผู้ดื่มมีความสุ่มเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ

น้ำอัดลม หนึ่งในเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล หรือสารให้ความหวาน ค่อนข้างสูง (Photo : AFP)

โดยโรคเบาหวานข้างต้นนั้น ก็เป็น “โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2” ซึ่งโรคเบาหวานชนิดนี้ กล่าวกันว่า พบบ่อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบ “โรคเบาหวาน ชนิดที่ 1” ซึ่ง “โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2” นั้น ก็เกิดจากภาวะร่างกายดื้ออินซูลิน ถือว่าเป็นชนิดของโรคาเบาหวานที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ผู้สูงอายุ แตกต่างจาก “โรคเบาหวาน ชนิดที่1” ที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ และมักจะเป็นผู้ป่วยที่อายุยังไม่มาก หรือถึงขั้นยังเป็นเด็กอยู่เลยก็มีเช่นกัน

ตามการศึกษาติดตามของนักวิชาการฯ ดังกล่าวตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลก พบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบชนิดที่ 2 รายใหม่จำนวน 2.2 ล้านคน และผู้ป่วยโรคหัวใจรายใหม่ จำนวน 1.2 ล้านคน มีความเชื่อมโยงกับการที่พวกเขาดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัดเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม ทางนักวิชาการฯ ระบุด้วยว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าที่รายงานออกไป เนื่องจากประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ก็ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่แท้จริง อาจจะด้วยหลายเหตุปัจจัย เช่น การจัดเก็บข้อมูล หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา

ผู้ป่วยโรคเบาหวานรายหนึ่ง ต้องถึงขั้นเข้ารับการฉีดอินซูลินในการรักษา (Photo : AFP)

จากการศึกษาติดตามแยกย่อยในแต่ละภูมิภาค ก็ยังพบด้วยว่า พบผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากการดื่มเครื่องดื่มรสหวานจัดเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 21 ในพื้นที่กลุ่มประเทศทางใต้ทะเลทรายซาฮารา หรือซับซาฮารา ในทวีปแอฟริกา และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 24 ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา หรืออเมริกาใต้ และบรรดาประเทศในย่านทะเลแคริบเบียน

ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจรายใหม่ในกลุ่มประเทศข้างต้นนั้น ก็พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 11

นอกจากนี้ จากการศึกษาแยกย่อยลงไปในรายละเอียดแบบแต่ละประเทศ พบว่า โคลอมเบีย ในภูมิภาคละตินอเมริกา เป็นประเทศที่พบผู้ป่วยโรคเบาหวานอันสืบเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มรสหวานจัดมากที่สุดถึงกว่าร้อยละ 48

ตามมาด้วยเม็กซิโก ที่พบจำนวนมากกว่าร้อยละ 33 หรือราว 1 ใน 3

ส่วนที่แอฟริกาใต้ ในทวีปแอฟริกา พบผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ถึงร้อยละ 27.6 และผู้ป่วยโรคหัวใจรายใหม่ร้อยละ 14.6 ซึ่งสืบเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มรสหวานจัดเป็นประจำข้างต้น

คณะศัลยแพทย์กำลังผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจรายหนึ่ง (Photo : AFP)

โดยทั้งสองโรคนี้ ก็ถือเป็นโรคร้ายระดับเพชฌฆาตปลิดชีพผู้ป่วยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ตามการประเมินขององค์การอนามัยโลก ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานที่คร่าชีวิตผู้ป่วยโรคนี้ถึงปีละกว่า 6.2 ล้านคน ไม่นับโรคที่ติดตามอื่นๆ ที่สืบเนื่องจากโรคเบาหวานตามมา ส่วนโรคหัวใจ ก็คร่าชีวิตชาวโลกมากยิ่งกว่า คือ มากกว่า 7 ล้านคนที่ต้องสูญเสียไปกับโรคหัวใจนี้