วิกฤตขยะพิษคุกคามชีวิตชาวอยุธยา! วุฒิสภาลงพื้นที่พบหลักฐานละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง จี้รัฐบาลดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด พร้อมชง ปปง.ยึดทรัพย์ของผู้กระทำผิด นำเงินมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและผลักดันให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่

วันที่ 11 ม ค.2568 นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำคณะลงพื้นที่โกดังเก็บสารเคมี บริเวณริมถนนสายอุทัย-ภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม หลังมีชาวบ้านร้องเรียนว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังแห่งนี้ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันกากของเสียสารเคมีกว่า 4,000 ตันยังคงอยู่

หลังจากได้รับฟังบรรยายสรุปเหตุการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าตรวจสอบบริเวณโกดังเก็บกากสารเคมีที่เกิดเพลิงไหม้ในโกดังที่ 1 - 2 พบว่า ยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายคล้ายน้ำมันเดือดปุดๆ จนต้องนำทรายมากลบเอาไว้ ซึ่งเมื่อใช้กระดาษลงไปจุ่มทดสอบ พบว่ากระดาษเปื่อยไหม้ในทันที

จากนั้นได้เข้าตรวจสอบโกดังที่ 4 และ 5 ที่ถูกวางเพลิงเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว พบหลุมลึกจำนวน 2 แห่งภายในโกดังที่ 5 ที่เกิดจากปฏิกิริยาสารเคมี จนน้ำเสียผุดขึ้นมา ทำให้พื้นดินบริเวณนั้นกลายเป็นสีส้ม

นายชีวะภาพ กล่าวภายหลังการนำคณะเข้าตรวจสอบว่า มีข้อบกพร่องทางกฎหมายที่น่ากังวล เนื่องจากโกดังแห่งนี้ถูกตรวจยึดไว้แล้ว แต่กลับเกิดเหตุเพลิงไหม้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่ามีการวางเพลิงเพื่อทำลายหลักฐาน โดยการที่ของกลางถูกทำลายไป จะส่งผลต่อการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างมาก และอาจทำให้คดีความล่าช้าหรือยุติลงได้ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกระบวนการยุติธรรม และเป็นการส่งเสริมให้อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ประธาน กมธ.ทรัพยากรฯ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์นี้สอดคล้องกับคดีขยะพิษในจังหวัดอื่นๆ เช่น เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และระยอง ที่พบว่ามีการกระทำผิดซ้ำๆ ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีขบวนการที่อยู่เบื้องหลังในการกระทำผิดเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำอีกในอนาคต ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการเห็นว่าคดีเหล่านี้ควรจะเข้าสู่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือ ปปง.เพื่อพิจารณายึดทรัพย์ผู้กระทำความผิด รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องพิจารณาเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง

“รัฐบาลควรดำเนินการจัดการกับปัญหาขยะพิษที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการนำกากสารเคมีอันตรายไปทำลายโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินคดีกับผู้ที่ทิ้งขยะพิษอย่างผิดกฎหมาย และเรียกร้องให้มีการยึดทรัพย์ของผู้กระทำผิด เพื่อนำเงินมาเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เช่น ชาวบ้านที่ต้องสูดดมกลิ่นเหม็นและได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ หรือเกษตรกรที่นาเสียหายจากสารเคมีที่รั่วไหล ซึ่งเหตุการณ์ขยะพิษที่เกิดขึ้นเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน วุฒิสภาจะไม่นิ่งนอนใจ และจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่” นายชีวะภาพ กล่าว