ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค.68 ที่เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร บ้านฟ้าห่วน หมู่ที่ 1 ตำบลฟ้าห่วน อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร นางสาวศิริรัตน์ ชูรัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธรพร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอค้อวัง ได้ลงพื้นที่เครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ของนางสาวอรวรรณ ทองแสง ที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากพื้นที่ทำการเกษตรปลูกข้าวนาปีที่ถูกน้ำท่วมผลผลิตเสียหายและ เกิดอุทกภัยทุกปี จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 3 ไร่ ทำเป็นโคก หนอง นาโมเดล ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น และปลูกผักก้านจอง จำนวน 3 งาน เพื่อส่งขายให้กับตลาด สร้างรายได้วันละ ไม่ต่ำกว่า 300 - 500 บาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ใช้พื้นที่ทำนาปลูกข้าวแล้วต้องประสบกับสภาวะการขาดทุน เพราะที่นามีอยู่ที่พื้นที่ลุ่ม ทำให้น้ำท่วมขังและเกิดอุกทภัยแทบทุกปี
โดย นางสาวศิริรัตน์ ชูรัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอค้อวัง กล่าวว่า สภาพพื้นที่นาของเกษตรกรเป็นที่ลุ่ม ทำให้การทำนาช่วงฤดูฝนได้ผลผลิตไม่ดีนัก เพราะแปลงนาจะถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงได้เสนอแนวทางที่จะนำเอาพืชชนิดอื่นมาปลูกทดแทน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพบริบทของพื้นที่และสามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้แนะนำให้ปลูก ผักก้านจอง ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำเป็นพิเศษ ที่ตอบโจทย์กับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร
ด้านนางสาวอรวรรณ ทองแสง เจ้าของสวน กล่าวว่า ผักก้านจอง ปกติสามารถเก็บส่งขายได้ทุกวัน แบ่งเก็บเป็นล็อกๆ วันละประมาณ 300-500 บาท รวมทั้งจำหน่ายต้นพันธุ์ออนไลน์ ต้นละ 1 บาท ซึ่งเดือนหนึ่งจะมีรายได้ประมาณ 10,000-15,000 บาท รายได้นี้ยังไม่รวมการขายพืชผักผลไม้ที่มีอยู่ในสวนอีก ซึ่งก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้านทุกวัน ถือเป็นรายได้หลักของครอบครัวไปแล้ว
สำหรับวิธีการปลูกก็นำท่อนพันธุ์มาปักลงในแปลงคล้ายการปลูกข้าว จากนั้นก็ให้ปุ๋ยโดยใส่ปุ๋ยสูตร 15-5-25 อัตราประมาณ 5 กิโลกรัม ใส่ทุก15 วัน ต้นทุนก็น้อยให้ปุ๋ยแค่เล็กน้อยก็อยู่ได้ยาวเป็นเดือน ศัตรูพืชหรือโรคแมลงต่างๆ ก็ไม่มี สามารถสร้างรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวนาปี ที่ลงทุนปลูกข้าวทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าไถ ค่าแรง ค่าเก็บเกี่ยว และต้องเสี่ยงกับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน และเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยอีกด้วย