จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมพลังหยุดเผา จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Day) ลดปริมาณการเผาในพื้นที่โล่ง และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

วันที่ 10 มกราคม 2568 ที่แปลงสาธิตนางธนาพร ภูยาดาว บ้านดอนยานาง หมู่ที่ 6 ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์   นายสนั่น พงษ์อักษร  ผวจ.กาฬสินธุ์  เป็นประธานเปิดงานรณรงค์สร้างการรับรู้ และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Day)  ซึ่งสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรได้ตระหนัก ถึงผลกระทบจากการเผา และนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผาที่เหมาะสมกับพื้นที่ 

โดยมีเป้าหมาย คือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าชเรือนกระจก  ลดปริมาณการเผาในพื้นที่โล่ง และพื้นที่การเกษตร 20 เปอร์เซ็นต์ และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  ทั้งนี้มีนายคมกริช ไตรยศ  เกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายวิทยา ปัญจมาตย์ ผอ.ทสจ.กาฬสินธุ์  นายมะณี อุทรักษ์ ผอ.สถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน เกษตรกร และเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาทุกอำเภอ เข้าร่วมกว่า 300 คน 

นายคมกริช ไตรยศ  เกษตร จ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า  สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ประกอบด้วย  ฐานการเรียนรู้ต่างๆ ได้แก่ ฐานเรียนรู้ที่ 1 การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ฐานเรียนรู้ที่ 2 การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ฐานเรียนรู้ที่ 3 เทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวในการทำการเกษตร ฐานเรียนรู้ที่ 4 การปลูกพืชใช้น้ำน้อย ฐานเรียนรู้ที่ 5 การประกันภัยพืชผล และฐานเรียนรู้ที่ 6 การวางแผนการเพาะปลูก (การขึ้นทะเบียนเกษตรกร) 

ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร  ผวจ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรม หยุดการเผาในแปลงเกษตร โดยหาวิธีการจัดการที่เหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายตอซังทดแทนการเผา การไถกลบตอซังเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้จากเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น การทำฟางอัดก้อน การทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การทำก้อนเห็ดจากฟางข้าว เป็นต้น

ขณะที่นายวิทยา ปัญจมาตย์ ผอ.ทสจ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในท้องที่ จ.กาฬสินธุ์สามารถดำเนินการได้หลายวิธี โดยเฉพาะการป้องกันการเผาป่าและการเผาฟางในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM2.5 รวมทั้งการสนับสนุนการเกษตรที่ไม่ใช้การเผาวัสดุทางการเกษตร เช่น การใช้เครื่องจักรในการจัดการฟางข้าว และการปลูกพืชคลุมดินเพื่อลดการปล่อยฝุ่น และที่สำคัญทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อภาพชีวิตของประชาชนในจ.กาฬสินธุ์