การเมืองไทย ต้องจับตากันแทบไม่กระพริบ เมื่อการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเป็นแรงกระเพื่อม มากบ้าง น้อยบ้าง ก็อยู่ที่จังหวะ และการจับสัญญาณที่ถูกส่งออกมา
นอกจากการเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เปิดหน้าลงมาเล่นแทบทุกสังเวียน ขึ้นเวทีปราศรัยแม้จะในฐานะ “ผู้ช่วยหาเสียง” ของพรรคเพื่อไทย จนโดดเด่นเหนือ “ผู้สมัครเพื่อไทย” ที่ลงชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแล้ว ยังพบว่า อีกหนึ่งขั้วการเมืองที่มานิ่งๆแต่วันนี้มี “แต้มต่อ” มีสส.อยู่ในมือแล้วว่า 24 เสียง คือ “พรรคกล้าธรรม” ที่มี “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นหน้าพรรค นั่นเอง
ที่มาที่ไปของพรรคกล้าธรรม ต้องนับว่าเดินมาถูกต้องกระบวนการขั้นตอนทุกประการ ไม่มีประเด็นที่จะนำไปสู่การกระทำขัดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปถึงการมาของพรรคกล้าธรรม ยิ่งสะท้อนภาพการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง ขั้วทักษิณ เมื่อเขากลับมาสู่ประเทศไทย กับ ขั้วบ้านป่ารอยต่อฯ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ว่าที่สุดแล้ว ฝ่ายทักษิณ สามารถตีค่ายกลของ พรรคพลังประชารัฐ จนแตกไม่มีชิ้นดี !
ทักษิณ ไม่เพียงแต่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐ อยู่ในสภาพไม่ต่างจาก “แตกร้าว” ด้วยการแบ่งพรรคอีกเป็นสองซีก วันนี้สส.ที่ยังขึ้นชื่อว่าสังกัดบ้านป่าฯของบิ๊กป้อม มีตัวเลขอยู่ที่ 22 สส. ส่วนอีก “24 สส.” ออกไปเข้าสังกัดพรรคกล้าธรรม เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ถูกขับพ้นจากพรรคพลังประชารัฐ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา โดยเป็นสส.เขตเลือกตั้งทั้งหมด ภายใต้การดูแลของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา
แน่นอนว่า สส.ในสังกัดพรรคกล้าธรรม อาจไม่ได้มีเพียง 24 คน แต่เมื่อการเลือกตั้งครั้งหน้าใกล้เข้ามา ตัวเลขสส.อาจจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อดีกรีและกระแสของพรรคพลังประชารัฐ ยิ่งแผ่วลงนับตั้งแต่ทักษิณ เคาะสัญญาณ ไปยังพรรคเพื่อไทย ให้ปรับพรรคพลังประชารัฐ ในปีกของบิ๊กป้อม ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อเริ่มนับหนึ่งรัฐบาล “แพทองธาร 1”
การปรากฏตัวของพรรคกล้าธรรม ถูกจับตามองและมีคำถามมาตั้งแต่แรกแล้วว่า จะกลายเป็น “พรรคอะไหล่” ของพรรคเพื่อไทย ในวันข้างหน้าหรือไม่ ว่า
“ณ เวลานี้เราคือพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน หากพรรคใหญ่พรรคแกนนำ มีนโยบายอย่างไรที่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนเราเห็นด้วย
ไม่ใช่มีอะไรก็คัดค้านตลอด ไม่เอา ผมไม่ชอบหลอกคนอื่น พรรคร่วมรัฐบาลควรจะมีการคุยกันก่อน ทุกครั้งที่มีวาระสำคัญที่เข้าครม.หรือสภาฯ พรรคไหนไม่เห็นด้วยบ่อยๆ ก็ควรจะแยกออกไป เราเห็นความเจริญของบ้านเมืองเป็นหลัก” (19 ธ.ค.2567)
สำหรับพรรคกล้าธรรมแล้ว แม้วันนี้จะมี 24 สส. 24 เสียงในมือ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของร.อ.ธรรมนัส เป็นหลัก แต่ในประเด็นเรื่องการต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะการส่งบุคคลใด บุคคลหนึ่งเข้ามานั่งในครม. ของ “แพทองธาร 1” นั้น ย่อมไม่ใช่เป็นเรื่องการตัดสินใจของทักษิณ แม้จะมีอิทธิพล ต่อ นายกฯอิ๊งค์ ก็ตาม
เพราะมีรายงานว่า สำหรับนายกฯอิ๊งค์ แล้ว บางเรื่อง เธอเองก็ไม่ได้เห็นด้วย กับ “พ่อ” หรือ “ยอม” ไปทั้งหมด เนื่องจากเป้าหมายในการเดินหน้าพรรคเพื่อไทย ในสไตล์ของเธอเอง คือการ “จัดวางคนรุ่นใหม่” เข้ามาทำงานในพรรค มากขึ้น รวมถึงที่ทำเนียบรัฐบาล บางคนที่ “พ่อ” เลือก อาจไม่ใช่ คนที่ เธอเองไฟเขียว
แต่ในขณะเดียวกัน การมี “มิตร” ย่อมดีกว่าสะสม “ศัตรู” โดยเฉพาะในยามที่ทักษิณ เพิ่งประกาศทวงความยิ่งใหญ่ให้ “เพื่อไทย” กลับมาเหมือนในยุค “ไทยรักไทย” หลังจากที่ 17 ปีที่ทักษิณ ต้องไปอยู่ต่างประเทศ “ฐานกำลัง” ทางการเมืองของพรรค ร่อยหรอลงไปอย่างชัดเจน และการสร้างความแข็งแกร่งกลับมาใหม่นั้น ย่อมต้องอาศัย “มือไม้” ในการทำงานแทบทุกรูปแบบ
อย่างน้อยที่สุดการมีพรรคกล้าธรรม อยู่เป็นพรรคสาขา เป็นพรรคอะไหล่ เพื่อเอาไว้ “ขู่” พรรคร่วมรัฐบาล ร่ำๆว่าจะ ปรับออกจากครม. กันตั้งแต่ปลายปี2567 ที่ผ่านมา ก่อนที่ทักษิณ และแกนนำพรรคภูมิใจไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ จะปิดท้ายว่า “ไม่มีอะไรในกอไผ่” จึงนับว่า การมีหมากในมือ เพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ นั้นมีประโยชน์อยู่เห็นๆ
แต่หากจะถึงขั้นดึงพรรคกล้าธรรม เข้ามาอยู่ร่วม รวมกันในพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งรอบหน้า ปี 2570 หากรัฐบาลอยู่ครบเทอมได้จริง ก็อย่าลืมว่า การตัดสินใจเช่นนั้น จะเกิดแรงต้านจากคนในพรรคเพื่อไทย รวมถึง นายกฯอิ๊งค์ พุ่งไปที่ ทักษิณ ตามมาโดยไม่ต้องเดา !