การเมืองท้องถิ่นช่วงต้นปีนี้ ต้องโฟกัสไปที่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.) ที่จะมีการเลือกตั้งพร้อมกันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้
ในส่วนของจังหวัดชลบุรี มีผู้สมัครชิงนายกอบจ. จำนวน 3 คน โดยบุคคลที่เป็นตัวเก็งนั้นคือ นายกเก่า 4 สมัย "วิทยา คุณปลื้ม" ลูกชายคนรอง ของกำนันเป๊าะ สมชาย คุณปลื้ม ค่อนข้างมีฐานเสียงที่แน่นและยังมีฐานของ ส.อบจ. อีกจำนวนมาก ภายใต้กลุ่ม"เรารักชลบุรี"
ส่วนผู้สมัครที่น่าจับตาอีกคน คือ นางสาวชุดาภัค วสุเนตรกุล จากพรรคประชาชน ที่แม้จะเรียกได้ว่าไม่ได้เป็นที่รู้จักจากคนเมืองชลมากเท่าไร เพราะประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว และยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก แต่ถ้าย้อนกลับไปดูฐานเสียงพรรคก้าวไกล ก็ได้คะแนนมาไม่น้อย 168,849 คะแนน นี่ก็อาจจะเป็นฐานคะแนนที่น่าจะเป็นได้
ขณะที่ผู้สมัครอีกรายเป็นอดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภาชลบุรีได้หนึ่งสมัย คือ นายประมวล เอมเปีย ที่มีฐานเสียงพอสมควรในพื้นที่ อ.พนัสนิคม และจากนั้นก็เป็นผู้สมัครทางการเมืองต่างๆ อีกหลายครั้ง แต่ยังไม่ชนะการเลือกตั้งกลับเข้ามา
ดังนั้นในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ชลบุรีของ อดีตนายกวิทยา คุณปลื้ม จึงดูว่าไม่น่าจะหนักใจอะไรมากนัก กับการแข่งขันครั้งนี้ ยิ่ง "บิ๊กป๊อก" มีผลงานการันตี คลุกคลีชาวบ้านตลอดเวลา ก็ยิ่งมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า กลุ่มพลังใหม่ของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ จะส่ง นายสมเจตน์ เกตุวัตถา อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบางพระ และเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา และ "จูน" พลอยลภัส สิงห์โตทอง อดีตผู้สมัคร นายก อบจ.ชลบุรี เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา (แต่พ่ายให้กับนายวิทยา) ลงสมัคร นายก อบจ.ชลบุรี ชนกับนายวิทยาในครั้งนี้ แต่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันเปิดรับสมัครวันแรก กลับไม่มีรายชื่อของกลุ่มพลังใหม่มาสมัคร นายก อบจ.ชลบุรี แต่อย่างใด
ต่อมา นายสุชาติ ได้ให้ข่าวแก่สื่อท้องถิ่นชลบุรี ในทำนองว่า เหตุที่ไม่ส่งผู้สมัครกลุ่มพลังใหม่ ลงแข่งชิงชัย นายก อบจ.ชลบุรี เพราะนายกวิทยา ขอไว้ บอกว่า จะลงครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แล้วจะขอพักผ่อน ตนเองจึงได้หลีกทางให้ อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ กรณีที่นายสุชาติ อ้างว่าได้พูดคุยกับนายวิทยานั้น "เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง" นายสุชาติ น่าจะมีแรงกดดันจากปัจจัยด้านอื่นมากกว่า เพราะตัวนายกวิทยามีคะแนนเสียงในพื้นที่ค่อนข้างเหนียวแน่นอยู่แล้ว และถ้าตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ ล่าสุด ที่กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 วาระนั้น นายกวิทยาก็ต้องเว้นวรรคในการเลือกตั้งสมัยหน้าตามกฏหมายกำหนดอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่นายสุชาติพูดไป คงแก้เกี้ยวให้กลุ่มเครือข่ายพรรคพวกตัวเองฟังมากกว่า
ทางด้านนายวิทยา คุณปลื้ม กำลังอยู่ระหว่างการลงพื้นที่หาเสียง เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อสอบถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า ขอที่จะไม่ตอบในประเด็นทางการเมือง เนื่องจากอยู่ในระหว่างการหาเสียง การพูด หรือ ให้ข่าวเกี่ยวกับการเมือง อาจเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงต่อข้อกฎหมายได้
ส่วนพื้นที่ การแข่งขัน ส.อบจ ชลบุรี มีหลายพื้นที่ที่การแข่งขันเข้มข้น เขต 2 พนัสนิคม นายพรชัย ด้วงเงิน อดีต สจ.กลุ่มพลังใหม่เจ้าของพื้นที่เดิม และเป็นคนสนิทกับ นายสุชาติ ถูกท้าชน จาก นายเอกชาติ แจ่มอ้น ผู้สมัครหน้าใหม่จากทีมเรารักชลบุรี ที่อยู่ในการทำงานทางด้านมวลชนในพื้นที่มานานมีฐานเสียงในพื้นที่พอสูสีกันได้
เขต2 บ้านบึง เขตนี้ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ทั้งจังหวัด จะเรียกว่าเป็นศึกสายเลือดก็ไม่ผิด เพราะเป็นการต่อสู้ของตระกูล สิงห์โตทอง ด้วยกัน เมื่อ ส.จ.เดิม "เนย" นางสาวลลิตา สิงห์โตทอง ต้อง เจอกับนายวีรวุฒิ สิงห์โตทอง ลูกชายของ นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง ส.ส. รวมไทยสร้างชาติ โดยทางฝั่งของ นายวีรวุฒิ จับหมายเลขผู้สมัครได้เลขเดียวกับนายวิทยา จึงใช้วิธีหาเสียงแบบควบ แม้ว่าจะเป็นทีมตรงกันข้าม ในขณะนางสาวลลิตา ซึ่งเป็นผู้สมัครในทีมเรารักชลบุรี ของนายวิทยา ได้คนละหมายเลขกับนายวิทยา ซึ่งในเขตนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันจากคนในพื้นที่ว่าอาจจะสร้างความสับสนให้ประชาชนไม่น้อย
อีกเขตที่น่าจับตามอง คือ เขต 2 เมืองชลบุรี ที่ สจ.เดิม นายธีรพงศ์ ศิริรักษ์ หรือกำนันแหลม คนสนิท นายสุชาติ เจอกับ คนรุ่นใหม่ นายณัฐวุฒิ สุขสว่าง ที่มีดีกรี เป็น ลูกชายของ นายสามารถ สุขสว่าง นายกเทศมนตรีตำบลนาป่า เมืองชลบุรี ที่มีฐานเสียงค่อนข้างมาก เมื่อผนึกกำลังกับนักการเมืองท้องถิ่น อย่างอดีตนายกเทศมนตรี และ อดีตสส. ที่เป็นพันธมิตรกันเหนียวแน่น ทำให้เขตนี้อาจไม่หมูสำหรับกำนันแหลม
ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์ รวมทั้งสิ้น 187 คน แต่ถูกตัดสิทธิรับสมัคร 3 คน เหลือผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 184 คน โดยมีผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 5 คน ถูกตัดสิทธิรับสมัคร 1 คน เหลือผู้สมัครนายก อบจ. 4 คน ได้แก่ หมายเลข 1 นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ , หมายเลข 2 นางสาวพิมพ์ชนก รัตนบรรณกิจ , หมายเลข 3 นายณัฐกิตติ์ ล้อประสิทธิ์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2563 และ หมายเลข 4 นายภูษิต เล็กอุดากร อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ สมัยที่ผ่านมา หลานชายของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในนามทีมกลุ่ม “คนบุรีรัมย์”
ส่วนผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 เขตเลือกตั้ง ใน 23 อำเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ มีจำนวนทั้งสิ้น 182 คน ถูกตัดสิทธิรับสมัคร 2 คน เหลือผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ 180 คน ได้แก่ ผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนามทีมกลุ่ม “คนบุรีรัมย์” จำนวน 42 คน ส่งสมัครใน 42 เขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน เป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ กว่า 30 คน และ ผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนาม “พรรคประชาชน” (ปชน.) จำนวน 9 คน ส่งสมัครใน 9 เขตเลือกตั้ง 7 อำเภอ ส่วนที่เหลือเป็นผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ในนามอิสระ จำนวน 129 คน ใน 42 เขตเลือกตั้ง 23 อำเภอ ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง อดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมด ข้าราชการบำนาญ ผู้นำท้องถิ่น เกษตรกร และผู้นำชุมชน
เราไปดูภูมิหลังของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้ง 4 คน ว่ามีดีเด่นดังอะไรบ้าง และกระแสประชาชนชาวบุรีรัมย์จะเลือกใครเข้ามาเป็นนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งนี้
เริ่มที่ นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 1 ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงการเมืองมาตลอด และเป็นการลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.ครั้งแรก เพราะต้องการอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่น รวมถึงเข้าไปทำหน้าที่ในการปราบทุจริตในทุกรูปแบบ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นใครปราบปรามการกระทำทุจริตอย่างจริงจังเลย รวมถึงอยากเข้ามาดูแลสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ด้านคู่แข่งที่คาดว่าสู้กันเข้มข้นอย่าง นายภูษิต เล็กอุดากร อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ สมัยที่ผ่านมา หลานชายของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้สมัครนายก อบจ. หมายเลข 4 ในนามทีมกลุ่ม “คนบุรีรัมย์” ขออาสามารับใช้พี่น้องประชาชนอีกครั้ง ที่มีฐานคะแนนแน่นปึ้กในแทบทุกพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ฐานคะแนนหลักเป็นอดีตสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ นายกเทศมนตรี และ อบต. แต่การเลือกตั้งยังไม่จบสิ้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ซึ่งการเลือกตั้งคราวที่แล้วได้คะแนน 439,547 คะแนน
นายภูษิต กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน และไม่รู้สึกหนักใจเพราะการเมืองต้องมีคู่แข่งอยู่แล้ว เราแข่งขันกันโดยประชาธิปไตยไม่มีอะไร ส่วนเรื่องนโยบายก็จะสานต่อนโยบายเก่าที่ได้ทำไว้ และก็จะมีการเพิ่มอีกนโยบายในเรื่องน้ำดื่ม น้ำสะอาด ของพี่น้องประชาชนชาวบุรีรัมย์ และมั่นใจจะไม่มีความรุนแรง เพราะเราหาเสียงโดยความชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็คงจะไม่มีความรุนแรงเหมือนจังหวัดอื่น จ.บุรีรัมย์เราหาเสียงกันแบบแฮปปี้ ไม่มีการจะมาใช้ความรุนแรงอะไรไม่มี
ส่วนในตัวผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทั้ง 42 เขต มั่นใจ เพราะว่าผู้สมัครของเราแต่ละคนลงพื้นที่หนัก โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดี ส่วนจะมีพรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงในพื้นที่หรือไม่ นั้น ตนไม่ทราบว่ามีการพรรคการเมืองมาหรือไม่ แต่เราก็หาเสียงในนามของ “คนบุรีรัมย์”
ขณะที่ผู้สมัครนายก อบจ.อีก 2 คน แม้ชื่อเสียงจะไม่โด่งดัง และไม่เคยผ่านสนามการเมืองท้องถิ่นมาเลยอย่าง หมายเลข 2 นางสาวพิมพ์ชนก รัตนบรรณกิจ ผู้สมัครอิสระ ส่วนหมายเลข 3 นายณัฐกิตติ์ ล้อประสิทธิ์ อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2563 ได้คะแนน 21,697 คะแนน ที่ไม่ค่อยคาดหวังอะไรมากกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ขออาสารับใช้พี่น้องชาวบุรีรัมย์ เป็นตัวเลือกใหม่ในการตัดสินใจ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าทั้งสองคนเป็นไม้ประดับทางการเมือง โดยผู้สมัครกลุ่มอิสระแต่ละคนก็หวังคะแนนสงสารจากพี่น้องประชาชนทั้ง 23 อำเภอ เลือกเข้าไปทำหน้าที่บริหาร อบจ.บุรีรัมย์
ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง นายภูษิต กับ นายการุณ ทั้งสองล้วนเป็นนักการเมืองในท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบนั้น ฟันธงไว้เลยว่า นายภูษิต จะมีภาษีดีกว่าผู้สมัครคนอื่น แต่ก็ยังมีตัวสอดแทรกจากผู้สมัครอิสระที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน ทำให้สนามเลือกตั้งนี้ดูเข้มข้นขึ้นมาก
แม้ว่าทางพรรคประชาชน(ปชน.) จะไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.บุรีรัมย์ แต่ก็ได้ส่งผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ จำนวน 9 คน ส่งใน 9 เขตเลือกตั้ง 7 อำเภอ ทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างเข้มข้นในหลายเขตเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ระหว่างผู้สมัครกลุ่มคนบุรีรัมย์ ของนายภูษิต กับ ผู้สมัครของพรรคประชาชน เพราะมีการแบ่งขั้วการเมืองกันอย่างชัดเจน อีกทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2566 ทางพรรคก้าวไกล ที่ปัจจุบัน คือ พรรคประชาชน ก็มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ในจังหวัดบุรีรัมย์ มากเป็นอันดับหนึ่งด้วย จึงขอมาเป็นตัวสอดแทรกในการแบ่งเก้าอี้สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ครั้งนี้