ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
คนไทยเป็นชาติรักอิสระมาแต่โบราณ พร้อมด้วยความนอบน้อม แต่ก็ไม่ยอมสยบให้ใคร
ความสำเร็จของการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนใน พ.ศ. 2518 ต้องนับว่าเป็นด้วยบุคลิกภาพ “แบบไทย ๆ” ของนายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยแท้ ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังการเข้าไปจับมือกับเหมาเจ๋อตุง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2518 ว่า “ผมพบท่าน(เหมา) ผมก็นอบน้อมแบบเด็กเข้าพบผู้ใหญ่ ท่านก็ให้ความเมตตาผม เราเลยคุยกันสนุก ลืมเวลาไปเลย”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เชื่อว่า คนไทยกับคนจีนมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่แน่นแฟ้นมาแต่โบราณ ในฐานะแบบ “เด็กกับผู้ใหญ่” ถ้ามองในทางประวัติศาสตร์ คนไทยเคยรวมกันตั้งเป็นรัฐขนาดใหญ่อยู่ในทางตอนใต้ประเทศจีน ที่มีหลักฐานชัดเจนก็คืออาณาจักรน่านเจ้า (“น่าน” หมายถึงทิศใต้ “เจ้า” หมายถึงผู้เป็นใหญ่ รวมความหมายเป็น “ผู้เป็นใหญ่ทางทิศใต้”) ที่มีอิทธิพลสูงสุดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ถึง 14 มีหลักฐานเป็นแผ่นหินบันทึกไว้ว่า มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน โดยผู้ปกครองของน่านเจ้า(ตามจารึกคือ พีล่อโก๊ะกับโก๊ะล่อฝง)ให้ความเคารพนบนอบต่อจีน ทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมกัน คือการรุกรานของพวกมองโกลจากทางทิศเหนือ จีนนั้นสามารถต้านทานมองโกลและสถาปนารัฐชาติขึ้นได้อย่างยิ่งใหญ่ ส่วนอาณาจักรน่านเจ้าเมื่อสูญสิ้นสภาพของความเป็นรัฐแล้ว ส่วนหนึ่งก็ยังอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ที่เดิมทางตอนใต้ของจีน โดยกระจายตัวไปตามทิศตะวันออกคือมณฑลกวางสี แต่มารวมตัวกันมากที่มณฑลยูนนาน ไปจนถึงทางตะวันตกที่ชายแดนประเทศบังกลาเทศและอินเดีย โดยเชื่อว่าบางส่วนอาจจะอพยพลงมาทางดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วตั้งรัฐไทยขึ้นทางภาคเหนือ จนกระทั่งมาตั้งเป็นอาณาจักรสุโขทัยในที่สุด
สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าไทยกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็คือการทูตในระบบ “บรรณาการ” ที่ภาษาจีนเรียกว่า “จิ้มก้อง” หรือ “เจิ่งกุง” โดยกษัตริย์ไทยยังคงแสดงความนอบน้อมต่อกษัตริย์จีน ส่งสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ไปเป็นบรรณาการแก่จีน จนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยก็ยังส่งสิ่งของไปบรรณาการเรื่อยมา ทั้งนี้ในพระราชสาส์นของพระมหากษัติย์ไทยที่มีประกอบไปกับสิ่งของบรรณาการในทุกครั้งนั้น จะยกย่องพระมหากษัตริย์จีนว่าอยู่ในฐานะที่ “สูงส่ง” และไทยให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
ในการสนทนากับท่านประธานเหมา นอกจากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะสนทนาด้วยความนอบน้อมแล้ว ท่านยังเชื่อมโยงสิ่งที่คนไทยและคนจีนมีร่วมกัน คือ “ความกตัญญู” ให้เป็นที่ประทับใจด้วย นั่นก็คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ถามเกี่ยวกับสุขภาพของท่านประธานเหมาด้วยความห่วงใย เมื่อทราบว่ามีแต่ปัญหาเรื่องความชราทั่ว ๆ ไป และท่านประธานเหมาก็ชอบรับประทานบรรดาอาหารบำรุงสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยมี “ของดี” พวกนี้อยู่มาก เมื่อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กลับมาประเทศไทยแล้ว ก็ให้คนช่วยจัดอาหารบำรุงสุขภาพ จำพวกรังนกและเขากวางอ่อน ไปให้ท่านประธานเหมารับประทานอย่างสม่ำเสมอ
ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ประทับใจท่านประธานเหมาเป็นอย่างยิ่งก็คือ แม้ท่านประธานเหมาจะชราภาพมากแล้วในวัย 81 ปี (ใน พ.ศ. 2518 และได้ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2519 ต่อมา) แต่ก็มีความจำกับสติปัญญาเป็นเลิศ ที่แสดงออกโดยการโต้ตอบอย่างเฉียบคมกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ด้วยข้อมูลทั้งทางประวัติศาสตร์และข่าวสารปัจจุบัน มีอารมณ์ขัน แต่ก็ยังมีบุคลิกภาพน่าเกรงขาม รวมถึงมีความน่ารักและน่าเคารพนับถือ โดยช่วงหนึ่งได้สนทนากันถึงปัญหาคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ซึ่งท่านจารย์คึกฤทธิ์ต้องการที่จะให้ทางประเทศจีนลดความช่วยเหลือพลพรรคคอมมิวนิสต์ที่กำลังสู้รบอยู่กับทหารและตำรวจของไทย ประธานเหมาก็พูดด้วยท่าทางแบบ “พ่อสอนลูก” (ตามคำพูดเชิงเปรียบเทียบของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์) ว่า
“วิธีปราบคอมมิวนิสต์นั้นไม่ยากหรอกลูกเอ๊ย... ข้อแรก อย่าไปฆ่ามัน มันอยากดัง ยิ่งฆ่ายิ่งบ้า (มีคำขวัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยข้อหนึ่งกล่าวว่า “ตายสิบ เกิดแสน” คือยิ่งฆ่ายิ่งเพิ่มจำนวน) ข้อต่อมา พัฒนาประเทศของเอ็งให้เจริญ พอคนไทยหายจน คอมมิวนิสต์มันก็จะแพ้ หนีไปเอง”
ในข้อหลังนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นปลื้มกับ “ความหยั่งรู้” ของท่านประธานเหมามาก เพราะในประเทศไทยก็มีบุคคลพระองค์หนึ่งที่สู้กับคอมมิวนิสต์ด้วยการพัฒนาแก้ไขความยากจนให้แก่คนไทย บุคคลพระองค์นั้นก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทุ่มเทพระสติปัญญาและพระกำลัง เข้าต่อสู้กับความทุกข์ยากของราษฎรไทยทั้งประเทศ และที่สุดปัญหาคอมมิวนิสต์ในไทยก็ไม่ได้ชนะด้วยการใช้กำลังอาวุธ แต่ด้วยการใช้กำลังการพัฒนา ที่เป็นไปโดยพระราชปรีชาญาณของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
เสียดายที่ท่านประธานเหมาไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อที่จะได้มาเห็นเมืองไทยจริง ๆ แต่ภายหลังอสัญกรรมของท่านใน พ.ศ. 2519 ฯพณฯเติ้งเสี่ยวผิง รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์และรองประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน (ผู้นำที่มีอิทธิพลมากที่สุดและเป็นที่รับรู้ว่าคือคนที่จะเป็นประมุขของจีนคนต่อไป) ท่านก็ได้เดินทางเข้ามาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีต่อมา โดยได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2521 อีกทั้งในวันต่อมาได้โดยเสด็จเพื่อชมโครงการทางด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบทบางโครงการอีกด้วย นี่ย่อมแสดงถึงความกระตือรือร้นของรัฐบาลจีน ที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ให้แนบแน่น ถึงระดับประมุขของประเทศ รวมถึงความจริงใจที่จะเห็นทั้งสองประเทศพัฒนาก้าวหน้าไปด้วยกันในทุก ๆ ด้าน อนึ่งในอีก 3 ปีต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2524 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และได้เสด็จพระราชดำเนินต่อมาอีกเกือบจะทุกปี (บางปีก็มากกว่า 1 ครั้ง จนนับถึง พ.ศ. 2567 จำนวนที่เสด็จพระราชดำเนินมีไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง) ก็ยิ่งสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แนบแน่นอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ย่อมแสดงถึงความจริงใจของทั้งสองประเทศที่ไม่อาจจะลบเลือนและกระชับมั่นยิ่งขึ้น ๆ เสมอมา
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองก็เดินทางไปจีนอีกหลายครั้ง ที่ผู้เขียนจำได้ก็คือการเดินทางไปเยือนเมืองเชียงรุ้ง ในมณฑลยูนนาน ใน พ.ศ. 2523 ที่ท่านบอกว่าได้ไปเปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนมาแล้ว 5 ปี ก็อยากไปดูว่าการเดินทางจะสะดวกราบรื่นดีหรือไม่ เพราะถ้ายังมีปัญหาอะไรอยู่ก็จะได้บอกกับรัฐบาลจีนให้เขาช่วยทำให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และอีกอย่างหนึ่งก็อยากจะไปดูความเป็นอยู่ของ “คนไทย” ที่นั่น เพราะเมืองเชียงรุ้งคือบ้านเมืองของคนไทยที่แตกกระสานซ่านเซ็นมาตั้งแต่ครั้งที่พวกมองโกลรุกรานจีนตอนใต้และอาณาจักน่านเจ้าเมื่อ 1,200 ปีที่แล้ว คนไทยจึงถอยร่นมาอยู่บริเวณนี้ โดยสามารถรวมกันเป็นหัวเมืองที่เป็นปึกแผ่นได้ 12 หัวเมือง เรียกว่า “สิบสองปันนา” (ปันนาหรือพันนา เป็นหน่วยแบ่งเขตการปกครองของคนไทยในสมัยโบราณ) โดยมีเมืองเชียงรุ้งหรือเชียงรุ่ง เป็นเมืองขนาดใหญ่และสำคัญที่สุด
ทุกวันนี้ก็ยังมีคนไทยไปเยี่ยมเยือนและท่องเที่ยวที่เมืองเชียงรุ้งนี้ปีละเป็นจำนวนมาก ทุกคนคงจะได้เห็นแล้วว่าที่นั่นยังเป็น “คนไทย” และมี “ความเป็นไทย” อะไรอยู่อย่างไรบ้าง แต่สำหรับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ดูจะสนใจในเรื่องอาหารการกินและคำพูด “คำจา” ของคนไทยที่นั่นเป็นพิเศษ ถึงขั้นที่ครั้งหนึ่งคิดจะเทียบเคียงคำไทยเชียงรุ้งเข้ากับคำไทยในภาคเหนือและภาคอีสานของเรา แต่ด้วยกิจธุระอันสาหัสทางการเมืองในช่วงต่อมา ได้ทำให้ท่านไม่มีเวลาไปทำอะไรที่จะสร้างสาระและความสุข ทั้งแก่ตัวท่านเองและคนอื่น ๆ ที่มีความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับ “คนไทย” และ “ความเป็นไทย”
ความจริงแล้วตลอดชีวิตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็คือตำราเล่มมโหฬารเกี่ยวกับ “คนไทย” และ “ความเป็นไทย” ที่ท่านได้รวบรวมไว้ให้มาด้วยชีวิตทั้งชีวิต