ในอดีตการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติของประเทศไทย ต้องจัดขึ้นที่ "สนามศุภชลาศัย" เท่านั้น เปรียบเหมือนเป็น "สนามเหย้า" ของทีมชาติไทย โดยเปิดใช้งานในปี พ.ศ.2481 ปัจจุบันมีอายุมากกว่า 80 ปี และรอเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อตัวสนามมีอายุครบ 100 ปี
กระทั่งการมาของ "สนามราชมังคลากีฬาสถาน" เมื่อปี พ.ศ.2541 เป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นสนามกลาง หรือสนามหลัก (Main Stadium) ของศูนย์กีฬาหัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย และใช้จัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติแทนที่ "สนามศุภชลาศัย" มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับจัดการแสดงดนตรี (คอนเสิร์ต) กลางแจ้ง มีศักยภาพรองรับผู้เข้าชมภายในอาคาร จำนวน 80,000 คน และอัฒจันทร์ 51,522 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเก้าอี้พับทั้งหมด ภายในมีสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน ลู่วิ่ง ลานกรีฑา และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่ 55 ของโลก และเป็นอันดับ 17 ของทวีปเอเชียอีกด้วย
ล่าสุด "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดเผยผ่านไลฟ์ทาง YouTube เพื่อตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนเกี่ยวประเด็นต่างๆ ในวงการฟุตบอล โดยหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงคือเรื่องของ "สนามศุภชลาศัย" โดยระบุตอนหนึ่งว่า "คุยไปแล้วรอบหนึ่งเกี่ยวกับการรีโนเวตสนามศุภชลาศัย ไซส์นี้ได้ตามขนาดของฟีฟ่าอยู่แล้ว ก็ต้องไปปรับเรื่องห้อง เรื่องไฟ ซึ่งปรับไม่ยาก ถ้าทำใหม่จะได้ 18,000 ที่นั่ง"
"แป้งมองว่าเรื่องสนามศุภชลาศัย ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ให้ความสนใจ โดยอยากจะให้เอาเงิน FIFA Forward 3.0 ไปใช้กับสนามศุภชลาศัย พอไปคุยกับสนามศุภชลาศัย เขาก็มองว่าเป็นสนามที่ศักดิ์สิทธิ์และอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ"
"ตอนนี้เราโคกับสนามราชมังคลากีฬาสถาน ถ้าเราได้สนามศุภชลาศัยอีก จะเป็น Home 2 Home ในกรุงเทพฯ มันก็เลิศ"
"อย่างไรก็ตาม ต้องไปคุยกับจุฬาฯ ก่อน เพราะเป็นสมบัติของจุฬาฯ และก็มี กรมศิลปากร เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นก็ได้คุยกับทั้ง 2 ฝั่งแล้ว"
สำหรับ "สนามศุภชลาศัย" มีชื่อเดิมว่า กรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 เริ่มก่อสร้าง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2480 เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ.2484 แต่มีการเปิดใช้สนาม ครั้งแรกในการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ.2481
ในอดีตจุดที่ตั้งของ "สนามศุภชลาศัย" เป็นที่ตั้งของวังวินด์เซอร์ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ วังประทุมวัน, วังกลางทุ่ง หรือวังใหม่ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งอยู่บริเวณทุ่งปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยชาวต่างประเทศที่พบเห็นต่างพากันเรียกว่าวังวินด์เซอร์ เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระราชวังวินด์เซอร์ ณ สหราชอาณาจักร แต่เมื่อเจ้าของวังสิ้นพระชนม์ลง วังวินด์เซอร์จึงไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านาย นอกจากนี้วังวินด์เซอร์เคยใช้เป็นหอพักของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มาของ หอวังและวังใหม่
ภายหลังจากปี พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ ต่อมาหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา มีแนวคิดที่จะก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติ และได้พิจารณาว่า ที่ดินทำเลบริเวณวังประทุมวัน เหมาะแก่การสร้างมากที่สุด และเมื่อมีมติสร้างสนามกีฬา วังนี้จึงถูกทุบทิ้ง และสร้างเป็นกรีฑาสถานแห่งชาติ
กระทั่ง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2484 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็นสนามศุภชลาสัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ปัจจุบันนิยมเรียกสั้นๆ เพียงว่าสนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติ
ข้อมูลของ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าขนาดสนาม กว้าง 72 เมตร ยาว 110 เมตร (สนามฟุตบอล กว้าง 68 เมตร ยาว 105 เมตร) มีลู่วิ่ง 8 ลู่ ความจุที่นั่ง 19,615 ที่นั่ง (ด้านมีหลังคา 5,804 ที่นั่ง, ด้านฝั่งตรงข้ามมีหลังคา 5,486 ที่นั่ง, อัฒจันทร์ด้านเหนือ 3,942 ที่นั่ง , อัฒจันทร์ด้านใต้ 4,383 ที่นั่ง), ห้องพักนักกีฬา 4 ห้อง, ห้องผู้ตัดสิน 1 ห้อง, ห้องผู้สื่อข่าว 1 ห้อง, ห้องรับรองวีไอพี 1 ห้อง, ห้องพยาบาล 1 ห้อง, ห้องแถลงข่าว 1 ข่าว (จุได้ 50 คน)
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับชาติเฉพาะรอบรองชนะเลิศ หรือรอบชิงชนะเลิศ หรือกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ ใช้ในการแข่งขันกรีฑาระดับชาติ หรือกรีฑาระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมทางการกีฬา หรือกิจกรรมอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อลู่วิ่งและอุปกรณ์ประจำสนาม ซึ่งกรมพลศึกษาจะพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป รวมถึงการจัดกิจกรรมอื่นๆ ในการให้บริการประชาชน
ส่วนผู้มีสิทธิขอใช้สนามศุภชลาศัย ได้แก่หน่วยงานของทางราชการ สมาคมกีฬาสมัครเล่น หรือหน่วยงานอื่นที่กรมพลศึกษาให้ความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น