“ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ ชีวิตนี้สำคัญนัก” เช้าวันแรกของพุทธศักราช 2562 นำธรรมมาเป็นเครื่องจรรโลงใจชีวิต หยิบหนังสือ “ชีวิตนี้น้อยนัก” พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ว่าด้วยเกี่ยวกับความเกิด ความตาย อดีตชาติ ปัจจุบันชาติ และชาติในอนาคต ที่เราอาจไปเกิดเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือเทวดาก็ได้ และทั้งหมดขึ้นอยู่กับ “ชีวิตนี้ปัจจุบันนี้” ทำให้ได้คติสอนใจชีวิต พุทธธรรมนั้นสามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของชีวิตได้ทุกระดับ ตั้งแต่พื้นฐาน กลาง ไปจนถึงสูงสุด ในที่นี้ขอนำนิพนธ์บางช่วงตอน มาให้ผู้อ่านได้เห็น “ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ ชีวิตนี้สำคัญนัก” พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง กล่าวว่า อปฺปกญฺจิหํ ชีวิตมาหุ ธีรา ปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้น้อยนัก ทุกชีวิต ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ มิได้มีเพียงเฉพาะชีวิตนี้ คือ มิได้มีเพียงชีวิตในชาตินี้ชาติเดียว แต่ทุกชีวิต มีทั้งชีวิตในชาติอดีต ชีวิตในชาติปัจจุบัน และชีวิตในชาติอนาคต “ชีวิตนี้น้อยนัก” หมายถึง “ชีวิตในชาติปัจจุบันนั้น น้อยนัก สั้นนัก” ชีวิต คือ อายุ ชีวิตในปัจจุบันชาติของแต่ละคน อย่างยืนนานที่สุดก็เกินร้อยปีได้ไม่เท่าไร ซึ่งก็ดูราวเป็นอายุที่ยืนมากนัก แม้ไม่นำไปเปรียบกับชีวิตที่ต้องผ่านมาแล้วในอดีต ที่นับชาติไม่ถ้วน นับปีไม่ได้ และชีวิตที่จะต้องเวียนวนเกิดตายต่อไปอีกในอนาคต ที่ก็จะนับชาติไม่ถ้วน นับปีไม่ได้ อีกเช่นกัน ที่ปราชญ์ท่านว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” นั้น ท่านมุ่งให้เปรียบ ชีวิตนี้ กับ ชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และ ชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วนอีกเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา ไม่สามารถพาตนให้พ้นทุกข์สิ้นเชิงได้ ทุกชีวิต ก่อนแต่จะได้มาเป็นคนเป็นสัตว์อยู่ในปัจจุบันชาติ ต่างเป็นอะไรต่อต่อมิอะไรมาแล้วมากมาย แยกออกไม่ได้ว่า มีกรรมดี กรรมชั่ว อะไรบ้าง ทำกรรมใดก่อน ทำกรรมใดหลัง ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว ที่ทำไว้ในชาติอดีตทั้งหลาย ย่อมมากมาย เกินกว่าที่ได้มากระทำในชาตินี้ในชีวิตนี้ อย่างประมาณมิได้ และ กรรมดีดรรมชั่ว ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมให้ผลตรงตามเหตุทุกประการ แม้ว่าผลจะไม่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่อาจเรียงลำดับตามเหตุที่ได้กระทำแล้วก็ตาม แต่ผลทั้งหลายย่อมเกิดแน่ แม้เหตุได้กระทำแล้ว พระนิพนธ์ส่องทางให้เห็น ชีวิตนี้หรือชาตินี้ของทุกคน มีชาติกำเนิดไม่เหมือนกัน เป็นไทยก็มี จีนก็มี แขกก็มี ฝรั่งก็มี มีชาติตระกูลไม่เสมอกัน ตระกูลสูงก็มี ตระกูลต่ำก็มี มีสติปัญญาไม่ทัดเทียมกัน ฉลาดหลักแหลมก็มี โง่เขลาเบาปัญญาก็มี มีฐานะต่างระดับกัน ร่ำรวยก็มี ยากจนก็มี ความแตกต่างห่างกันนาๆ ประการเหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องชี้ ให้ผู้เชื่อในกรรมและผลของกรรม เห็นความมีภพชาติในอดีต ของ แต่ละชีวิตในชาติปัจจุบัน เกิดมาต่างกันในชาตินี้ เพราะทำกรรมไว้ต่างกันในชาติอดีต ความแตกต่างของชีวิต ที่สำคัญที่สุด ที่แสดงให้เห็น อำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรรม คือ ความได้ภพชาติของพรหมเทพ ความได้ภพชาติของมนุษย์ กับ ความได้ภพชาติของสัตว์ เทวดา อาจเป็นมนุษย์ได้ เป็นสัตว์ได้ มนุษย์ อาจเป็นเทวดาได้ เป็นสัตว์ได้ และ สัตว์ ก็อาจไปเป็นเทวดาได้ เป็นมนุษย์ได้ ด้วยอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของกรรม อันนำให้เกิด นี่เป็นความจริง ที่แม้จะเชื่อ หรือไม่เชื่อ ความจริงนี้ ก็ย่อมเป็นความจริงเสมอไป ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลง ให้ผิดไปจากความจริงได้ เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ควรกลัวอย่างหนึ่ง คือ กลัวการไม่ได้กลับมาเกิดเป็นคน ไม่ได้ไปเกิดเป็นเทวดา พระนิพนธ์บทท้ายเล่มกล่าว ชีวิตนี้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง แสวงหาอำนาจวาสนาบารมี ทรัพย์สินเงินทอง อย่างไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ไม่คำนึงถึงศีลธรรมใดๆ ชื่นชมสมใจแล้ว มิใช่ว่าจะยั่งยืน จะชื่นชมสมปรารถนาไปได้อย่างมาก ก็ชั่วอายุร้อยปี แล้วก็หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งชื่อเสียงที่เน่าเหม็นไว้ให้คนโจษขาน พาแต่ จิตดวงเดียว ร่อนเร่ไป ทำกรรมไม่ได้ไว้ ก็จะไปพร้อมกับจิตที่ห่อหุ้มด้วยความไม่ดี ไปสู่ทุคติ ภพภูมิที่ไม่ดี ภพภูมิที่มีแต่ความทุกข์ จิตดวงเดียว ที่ปราศจากอำนาจวาสนาบารมี ทรัพย์สินเงินทอง ที่เมื่อมีชีวิตในชาตินี้ กอบโกยไว้ ด้วยอำนาจกิเลส จักต้องเที่ยว ทุกข์ร้อน ไปนานนักหนา นับกาลเวลาหาได้ไม่ นับภพชาติหาถูกไม่ ในทุคติ ชีวิตนี้ที่ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง มั่นคงอยู่ในความดี มีศีล มีธรรม จะร่มเย็นเป็นสุขชั่วกาลนาน ความสุข ที่จักไม่สิ้นสุดลงพร้อมกับ “ชีวิตนี้ที่น้อยนัก” ที่มีเวลาเพียงร้อยปีเท่านั้นโดยประมาณ ตอนท้ายของพระนิพนธ์ตอนท้าย กล่าว ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ ชีวิตนี้สำคัญนัก เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยก จะไปสูงไปต่ำ จะไปดีไปร้าย เลือกได้ใน “ชีวิตนี้” เท่านั้น พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดี แล้วจงเลือกเถิด เลือกให้ดีเถิด คัดจากหนังสือ "ชีวิตนนี้น้อยนัก" พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชะมวง พฤกษาถิ่น เรียบเรียง