วันที่ 10 ม.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแบบไม่มีหนี้ผูกพันและงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า จากการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2568 (9ม.ค.) พบว่ามีหลายสำนักที่ยังใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างไม่สำเร็จ จึงมีการเร่งรัดก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายงบประมาณ 2568 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่กันไว้เบิกเหลือมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แบบไม่มีหนี้ผูกพัน ซึ่งต้องดำเนินการให้ทันภายในวันที่ 30 ก.ย.68 (265วัน) ก่อนงบประมาณที่กันเงินฯ ไว้จะพับตกไป
โดยภาพรวมประกอบด้วย งบบุคลากร 1 รายการ 2,576,000,000 บาท งบดำเนินงาน 3 รายการ 57,788,090 บาท งบลงทุนค่าคุรุภัณฑ์ 46 รายการ 472,007,500 บาท งบลงทุนค่าที่ดิน 50 รายการ 789,193,000 บาท งบรายจ่ายอื่น 41 รายการ 642,319,311 บาท รวม 141 รายการ 4,537,307,901 บาท
สำหรับงบประมาณที่ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ประกอบด้วย 1.งบประมาณกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี 167 รายการ จำนวน 2,857.35 ล้านบาท หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันแล้ว ร้อยละ 100 จำนวน 40 หน่วยงาน 2.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ประเภทงบลงทุน (ค่าครุภัณฑ์) 1,459 รายการ 267.62 ล้านบาท หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันแล้ว ร้อยละ 100 จำนวน 27 หน่วยงาน 3.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ประเภทงบลงทุน (ค่าที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง) 627 รายการ 7,645.53 ล้านบาท หน่วยรับงบประมาณก่อหนี้ผูกพันแล้ว ร้อยละ 100 จำนวน 7 หน่วยงาน
จากการวิเคราะห์สาเหตุสำคัญที่หลายหน่วยรับงบประมาณไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้คือ ขาดการเตรียมความพร้อมในการจัดทำรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ และรูปแบบ/ประมาณราคา ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งความพร้อมของพื้นที่ในดำเนินการ เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้หน่วยรับงบประมาณที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันรายการที่มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 270 วันขึ้นไป ภายในวันที่ 27 ธ.ค. 67 จะต้องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีและไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันภายใน 30 ก.ย. 68 มีผลกระทบต่อตัววัดผลต่าง ๆ เช่น ความสำเร็จการก่อหนี้ผูกพัน การเบิกจ่ายงบฯ ในภาพรวม และการเบิกจ่ายตามเป้าหมายแนวทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงกำหนดให้มีการจัดทำแผนซักซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติเกี่ยวกับงบประมาณ จัดทำแนวทางบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีในภาพรวม และตัวชี้วัดความสำเร็จการก่อหนี้ผูกพันของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยรับงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน ค่าคุรุภัณฑ์ ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และกำหนดให้มีการประชุมประจำสัปดาห์ ประจำเดือน และประจำไตรมาส เพื่อติดตามรายงานผลการใช้งบประมาณดังกล่าว ให้ทันภายในเวลากำหนด