"ชัชชาติ" แถลงมาตรการสู้ฝุ่น ชี้ปัจจัยเหนือการควบคุม พร้อมเดินหน้าประสานความร่วมมือ

วันที่ 9 ม.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยกล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้ค่าฝุ่นเกิน 70 มคก./ลบ.ม. หรืออยู่ในระดับสีแดงหลายพื้นที่ เช่น เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา เขตบางบอน เขตประเวศ เขตบางขุนเทียน เขตธนบุรี แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดมาตรการ WFH และการปิดโรงเรียนในสังกัด กทม. ซึ่งการออกประกาศดังกล่าว จะดำเนินการตามข้อมูลบ่งชี้ ได้แก่ 1.ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต มีการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน 2.ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง มากกว่า 5 เขต หรือระดับสีส้ม มากกว่า 15 เขต มีอัตราการระบายอากาศ (VR) น้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที

 

โดยสาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5 มาจาก 3 ปัจจัย คือ จากรถยนต์ประมาณ 30 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกิดขึ้นตามปกติ แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 60 มคก./ลบ.ม. หากมีสภาพอากาศปิดร่วมด้วย และจะเพิ่มเป็น 90 มคก./ลบ.ม. หากมีสภาพอากาศปิดและการเผาชีวมวลร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบัน ปัจจัยฝุ่นประกอบกันทั้ง 3 ปัจจัย ทำให้ค่าฝุ่นสูงอยู่ในระดับสีแดง จากข้อมูลการพยากรณ์ล่วงหน้าสภาพอากาศจะดีขึ้นในวันที่ 11-12 ม.ค.68 จากนั้นค่าฝุ่นจะสูงขึ้นอีก สิ่งสำคัญคือ พบการเผามากขึ้นในช่วงนี้ ทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออก โดยในช่วงนี้หากเทียบกับปีที่แล้ว พบการเผามากขึ้นถึงร้อยละ 42 ประกอบกับมีลมตะวันออกพัดเข้ากรุงเทพมหานคร กลุ่มเปราะบางจึงต้องระมัดระวัง ป้องกันตัว สวมหน้ากากอนามัย และไม่ออกที่แจ้งหากไม่จำเป็น

 

ขณะที่ด้านมาตรการป้องกันต่างๆ ปัจจุบัน กทม.มีโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องไส้กรอง มีรถยนต์เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 162,000 คัน ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 500,000 คัน และโครงการบัญชีสีเขียว (Green List) มีรถบรรทุกลงทะเบียนร่วมโครงการแล้วประมาณ 12,119 คัน หากค่าฝุ่นถึงเกณฑ์ประกาศตามข้อบ่งชี้ของกรุงเทพมหานคร กทม.จะอนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุกที่ลงทะเบียนโครงการบัญชีสีเขียวเข้าวงแหวนรัชดาภิเษก ส่วนรถบรรทุกที่ไม่ลงทะเบียนจะไม่ได้รับอนุญาต มาตรการดังกล่าวสามารถลดฝุ่น PM2.5 จากการจราจรร้อยละ 8.14 ลดฝุ่นจากทุกแหล่งกำเนิดได้ร้อยละ 5.68 หากประชาชนช่วยกันเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องครบ 500,000 คัน จะสามารถลดฝุ่น PM2.5 จากการจราจรได้ร้อยละ 25 นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายร่วม WFH แล้ว 220 บริษัท หรือกว่า 85,000 คน กทม.ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 200,000 คน

 

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบค่าฝุ่นระดับสีแดงในพื้นที่เขตหนองแขม เบื้องต้นพบมีการเผาตามที่ได้รับแจ้ง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแลแล้ว อย่างไรก็ตาม กทม.สามารถกำกับดูแลการเผาและปัจจัยฝุ่นต่าง ๆ ได้เฉพาะในพื้นที่รับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้คือเรื่องสภาพอากาศปิด และการเผาในพื้นที่ใกล้เคียง จากการตรวจสอบพบบางพื้นที่ไม่มีรถยนต์แต่พบปริมาณฝุ่นสูงขึ้น ดังนั้น ปัจจัยฝุ่นในบางพื้นที่อาจไม่ได้มาจากรถยนต์ แต่มาจากการเผาและสภาพอากาศปิด ซึ่งควบคุมได้ยาก เพราะฝุ่นอาจถูกลมพัดมาจากพื้นที่อื่นร่วมด้วย ต้องประสานกับหน่วยงานหลายภาคส่วน ปัจจุบัน กทม.ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อหาแนวทางลดฝุ่นมากขึ้น

 

ทั้งนี้ แนวคิดในการใช้รถพลังงานไฟฟ้ายังไม่ยืนยันว่าจะลดฝุ่นได้มากน้อยเพียงใด เพราะปัจจัยฝุ่นไม่ได้มาจากเครื่องยนต์ดีเซลเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องการเผา และสภาพอากาศร่วมด้วย การกำหนดให้ใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรือการห้ามไม่ให้รถวิ่งทั้งหมด อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ และอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนและภาระให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างไม่คุ้มค่า เพราะฝุ่นไม่ได้หายไป สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือช่วยกันลดการเผาลง แต่เนื่องจากการเผาเป็นการทำลายที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุดของเกษตรกร กทม.จึงต้องสร้างแรงจูงใจลดการเผาโดยการสนับสนุนเครื่องอัดฟางร่วมด้วย และหากพื้นที่อื่น ๆ สนับสนุนเครื่องอัดฟางให้เกษตรกรมากขึ้นถือเป็นเรื่องดี ช่วยลดการเผาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร โดย กทม.พยายามร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และหาวิธีลดฝุ่นในหลายมิติ ซึ่งเรื่องฝุ่นถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน ปัจจุบัน สำนักอนามัย (สนอ.) แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 1 ล้านชิ้น ส่วนสำนักการแพทย์ (สนพ.) ได้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม. 11 แห่ง

 

ส่วนเรื่องการรายงานค่าฝุ่น กทม.จะรายงานเฉพาะค่าฝุ่น PM2.5 เท่านั้น ซึ่งเป็นเครื่องวัดมาตรฐานเดียวกันกับกรมควบคุมมลพิษ โดยเครื่องดังกล่าวจะแยกความชื้นและค่ามลพิษในอากาศอื่นๆออก เหลือเฉพาะค่าฝุ่น PM2.5 แตกต่างจากการวัดค่า Air Quality Index (AQI) ซึ่งจะวัดค่ามลพิษในอากาศอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ก๊าซโอโซน (O3) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งจะทำให้ค่า AQI ดูสูงขึ้น ประชาชนอาจเข้าใจว่าเป็นค่าฝุ่น PM2.5 อย่างเดียว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ จึงขอแนะนำให้รับรายงานค่าฝุ่นจาก กทม.เป็นหลัก เพราะใช้เครื่องมือวัดฝุ่น PM2.5 โดยตรงกว่า 70 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร

 

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 ในโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า ปัจจุบัน กทม.มีโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นทั้ง 437 โรงเรียน โดยให้นักเรียนทำความเข้าใจเรื่องฝุ่น PM2.5 และรายงานโดยการปักธงตามระดับสีฝุ่นทุกเช้า และให้นักเรียนทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่คนที่บ้าน ไม่ให้เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น รวมถึงในปีนี้ กทม.ได้รับงบประมาณก่อสร้างห้องปลอดฝุ่นในระดับชั้นอนุบาลแล้ว โดยจะเร่งดำเนินการทั้งหมดประมาณ 1,700 ห้อง ได้เริ่มสร้างห้องตัวอย่างที่เขตดุสิตแล้ว และจะขยายให้ครบทั้งหมดต่อไป อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง ทั้งนี้ การประกาศหยุดโรงเรียนในช่วงฝุ่นสูง อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะเด็กต้องอยู่บ้าน อยู่ในชุมชน ซึ่งไม่ทราบว่าจะปลอดภัยจากฝุ่นหรือไม่ อย่างไร แต่ถ้าหากเด็กมาโรงเรียน มีห้องที่ปลอดภัยจากฝุ่นรองรับจัดเตรียมไว้