วันที่ 9ม.ค.68-มีผู้ใช้ชื่อเพจว่า "Health Performance Team"ได้โพสต์ว่า“วิจัยสุดบ้า” PM 2.5 พังทั้งเลือด พังทั้งค่าปอด

#จับคนมาวิ่งในสภาวะฝุ่นขึ้นสูง

เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า PM 2.5 เป็นอุปสรรคในการออกกำลังกายอย่างมาก ทั้งหายใจที่ลำบาก, มีอาการเจ็บคอ, ภาวะเลือดออกทางจมูก หรือจนกระทั่งเกิดการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจ 

แต่มีน้อยมากที่จะจับคนเป็นๆ มาทดลองให้เผชิญกับฝุ่น PM 2.5 แบบจริงจัง ด้วยการเก็บค่า VO2max เพื่อดูการพัฒนาของสมรรถภาพปอด และเก็บค่าเลือดเพื่อดูการทำงานของเม็ดเลือดขาว-เม็ดเลือดแดง 

“สถานที่การทดลอง” (แปะใน Comment)

ผู้ทำการวิจัยต้องการเทียบร่างกาย ระหว่างสภาพอากาศที่มีค่า PM อยู่ที่ 83.44 µg/m³ (สนามวิ่งอยู่ชานเมืองไม่ติดถนนใหญ่) และ 102.33 µg/m³ (สนามวิ่งติดถนนใหญ่) ตลอด 14 สัปดาห์ของการทดลอง โดยผู้เข้าร่วมวิจัยถูกมอบหมายให้ออกกำลังกาย เป็นระยะเวลา 40 นาที (ความถี่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์) ประกอบไปด้วย

- 5 นาทีวอร์มอัพ
- 30 นาทีวิ่งที่ความหนักแบบ Sub-Maximum 
- 5 นาทีคูลดาวน์ 

“ผลสรุปได้ว่า” (แปะใน Comment)

เมื่อเผชิญกับสภาวะ PM ที่มีค่าสูง (102.33 µg/m³) ระดับเม็ดเลือดขาวมีการเพิ่มขึ้นถึง 1.39 ไมโครลิตร (x 10³/µl)  “และ” สภาวะฝุ่น PM ที่ 83.44 µg/m³ ค่าเม็ดเลือดขาวของผู้ทดสอบมีการเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 0.92 ไมโครลิตร (x 10³/µl)

“การเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาวมีข้อเสียอย่างไร?”

การเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาวย่อมหมายถึงการที่ร่างกายมีการอักเสบและติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวต้องทำงานหนักในการเป็นภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อการอักเสบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจและระบบหมุนเวียนเลือด 

“ฝุ่นเยอะสุขภาพปอดไม่พัฒนา”

ในส่วนค่าปอดจากการวัด VO2max สามารถสรุปได้ว่า ความจุปอดสูงสุดที่หายใจออกอย่างเร็วและแรง (FVC) มีการพัฒนาขึ้นในสภาวะที่มีค่า PM 2.5 ที่ 83.44 µg/m³ แต่ไม่มีการพัฒนาเมื่ออยู่ในสภาวะที่ฝุ่นสูง (102.33 µg/m³) 

ว่ากันว่าตัวฝุ่น PM 2.5 ที่สูงสามารถเข้าไปสะสมในถุงลมปอดและอาจก่อให้เกิด ภาวะพังผืดในปอด (Fibrosis) ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของปอดลดลง และความสามารถในการรองรับอากาศที่เข้าสู่ปอดแย่ขึ้นมาก 

เราสามารถ Search ตามเว็บไซต์ทั่วไปได้เลยว่า เมื่อเราปล่อยให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นในระยะยาว ร่างกายเราจะอ่อนแอมาก อายุสั้นลง อีกทั้งเสี่ยงสุดๆที่จะเป็นมะเร็ง

เมื่อเราเห็นงานวิจัยแบบนี้แล้ว อยากขอให้ทุกคนเช็คค่าฝุ่นให้ดี เพราะในระยะสั้นเราอาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก ขอให้คำนึงถึงร่างกายในระยะยาวด้วยครับ

พีรภัทร

อ้างอิง: https://doi.org/10.25299/sportarea.2022.vol7(2).9097