วันที่ 8 มกราคม 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า การประชุมกระทรวงพม.ประจำเดือนมกราคม 2568 กระทรวงพม.ตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) เพื่อเตรียมแผนรองรับก่อนเกิดภัยของภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ในเดือนตุลาคม2567 และต่อมาเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นตามการประเมินระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2567 พื้นที่ภาคใต้ประสบอุทกภัยรุนแรงในหลายจังหวัดนั้น ศบปภ. ของกระทรวง พม. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ 1) เงินสงเคราะห์สำหรับเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนทั่วไปที่ประสบปัญหาทางสังคมและภัยพิบัติ 1,881 คน จำนวน 3,825,900 บาท ยังคงเหลืออีก 6,182 คน จำนวน 18,546,000 บาท ,2) เงินทุนประกอบอาชีพ จาก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกองทุนผู้สูงอายุ 213 คน จำนวน 8,326,000 บาท 3) ศูนย์พักพิงชั่วคราว ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย 973 คน แบ่งเป็น ศูนย์พักพิงชั่วคราวของกระทรวง พม. จำนวน 669 คน และศูนย์พักพิงชั่วคราวของจังหวัด ที่กระทรวง พม. ร่วมบริหาร 304 คน ,4) UNICEF (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส) สนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือ สิ่งของจำเป็นสำหรับเด็ก เช่น นมผง ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ผ้าห่ม และชุดสุขอนามัยที่จำเป็น เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยากันยุง รวมจำนวน 1,900 ชุด และ 5) อาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือระหว่างเกิดภัย 2,286 คน
ทั้งนี้จากการดำเนินงานของ ศบปภ. ในช่วงเกิดภัยพิบัติที่ผ่านมาทำให้พบปัญหาเรื่องข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในระหว่างเกิดภัยพิบัติ เช่น กระทรวง พม. ไม่มีงบประมาณเป็นการเฉพาะในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งปัจจุบันใช้งบฯปกติจากเงินสงเคราะห์ต่าง ๆ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไป 1,881 คน จำนวน 3,825,900 บาท ยังคงเหลือที่ต้องให้ความช่วยเหลืออีก 6,182 คน จำนวน 18,546,000 บาท และเรื่องงบประมาณสำหรับเป็นค่าตอบแทน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เนื่องจากกระทรวง พม. ไม่มีระเบียบและงบประมาณในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ อพม. ที่ให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในระหว่างเกิดภัยพิบัติ 2,286 ราย รวมถึงเรื่องงบประมาณสำหรับจัดหาสิ่งของช่วยเหลือ เช่น นมผงเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เนื่องจากกระทรวง พม. ไม่มีงบประมาณเพื่อการนี้ จำเป็นต้องขอรับบริจาคจากภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ยังพบปัญหาการฟื้นฟูอาชีพระยะหลังเกิดภัยพิบัติ โดยกระทรวง พม. ใช้งบประมาณจากกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้การกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพแก่กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 92 คน จำนวน 4,696,000 บาท และ กองทุนผู้สูงอายุ 121 คน จำนวน 3,630,000 บาท
นายวราวุธ กล่าวว่า ศบปภ. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) จำนวน 2 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการให้ความช่วยเหลือ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินสงเคราะห์ ในปีงบประมาณ 2568 เพิ่มเติม หรือขอรับจัดสรรงบกลาง จำนวน 22,371,900 บาท เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ และขอความเห็นชอบการจ่ายค่าตอบแทน อพม. ที่ให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางระหว่างภัยพิบัติ และ2.ด้านการฟื้นฟู โดยขอเพิ่มแนวทางการใช้งบทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง จำนวน 10 ล้านบาท สำหรับใช้จัดหาสิ่งของเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางระหว่างประสบภัยพิบัติ เช่น นมผงเด็ก ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป อาหารเสริม อาหารสำเร็จรูปทและยังได้จัดทำข้อเสนอต่อกระทรวง พม. โดยขอให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) พิจารณาจัดลำดับความสำคัญการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ โดยพิจารณาให้ผู้ประสบปัญหาทางสังคม และได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเป็นลำดับแรก