กลายเป็นดินแดนที่เผชิญกับสภาพอากาศวิปริตแปรปรวนอย่างสุดขั้วมากที่สุด ในภูมิภาคเอเชียอย่างน่าสะพรึงประเทศหนึ่ง

สำหรับ จีนแผ่นดินใหญ่ ประเทศเจ้าของฉายา “พญามังกร”

แถมมิหนำซ้ำ ยังเป็นสภาพอากาศวิปริตแปรปรวนอย่างสุดขั้ว ชนิดพลิกกลับไปคนละข้าง อีกต่างหาก

แม้กระทั่งหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาในจีนเอง หรือซีเอ็มเอ (CMA : China Meteorological Administration) เอง ก็ยังออกมายอมรับผ่านการรายงานสภาพอากาศกันเลยทีเดียว

ตามรายงานของซีเอ็มเอ ก็ระบุว่า รอบปี 2024 (พ.ศ. 2567) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ต้องถือเป็น “ปีที่ร้อนสุดๆ” นับตั้งแต่ที่ซีเอ็มเอ เก็บบันทึกเป็นสถิติข้อมูลทางสภาพอากาศเมื่อปี 1961 (พ.ศ. 2504) หรือ 64 ปีที่แล้วเป็นต้นมาเลยก็ว่าได้

ทั้งนี้ ก็สอดคล้องกับข้อมูลของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่มีรายงานออกมาเมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้วว่า ปี 2024 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุด เท่าที่มีการบันทึกทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ถ้านับรวมไปจนถึงยุคราชวงศ์ชิงครองเมือง ที่เริ่มมีการก่อตั้งหน่วยงานที่ดูแลด้านอุตุนิยมวิทยาในนครเซี่ยงไฮ้สมัยนั้น ก็ต้องบอกว่า ร้อนที่สุดในรอบ 152 ปีเลยทีเดียว เพราะหน่วยงานที่ดูแลด้านอุตุนิยมวิทยาของจีนในยุคดังกล่าว เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 1873 (พ.ศ. 2416)

เมื่อสภาพอากาศของปีที่แล้ว คือ 2024 มีอุณหภูมิเฉลี่ยโดยรวมทั้งปีอยู่ที่ 10.92 องศาเซลเซียส มากกว่าปี 2023 (พ.ศ. 2566) ก่อนหน้า 1.03 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสภาพอากาศของปี 2023 แล้ว ก็ต้องบอกว่า ร้อนที่สุดปีหนึ่ง แต่เมื่อมาเจอกับปี 2024 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ตัวเลขของปี 2023 ที่ว่า ก็ถูกทุบทำลายทิ้งกันไปเลย

โดยอุณหภูมิ 10.92 องศาเซลเซียสข้างต้น ก็ยังเป็นตัวเลขที่จัดว่า พุ่งขึ้นสูงสุด ตลอดทั้ง 4 ปีที่แล้วเป็นต้นมา ที่อุณหภูมิของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 4 ปีเป็นต้นมา

ส่วนที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งหน่วยงานที่ดูแลด้านสภาพอากาศมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ชิงครองเมือง ที่ปัจจุบันเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ และมีประชากรพำนักอาศัยอย่างหนาแน่นั้น ในรอบปี 2024 ที่แล้วมานั้น ก็มีอุณหภูมิเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 18.8 องศาเซลเซียส อันเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาของนครแห่งนี้

โดยเมื่อกล่าวถึงสภาพอากาศของนครเซี่ยงไฮ้ในช่วงรอบปีที่ผ่านมานั้น นอกจากร้อนมากที่สุด ตามการบันทึกของซีเอ็มเอแล้ว ในเวที “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29” หรือ “ค็อป29” ซึ่งมีขึ้นที่กรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่ผ่านมา ก็กำหนดให้นครศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงินของจีนแห่งนี้ มีระดับมลภาวะทาอากาศสูงที่สุดในโลกในช่วงรอบปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน โดยได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 256 ล้านเมตริกตันในช่วงรอบปีที่ผ่านมา อันส่งผลต่อเนื่องให้ทวีวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน รุนแรงหนักขึ้นตามมา

สภาพอากาศในนครเซี่ยงไฮ้ เมืองเศรษฐกิจสำคัญของจีนในช่วงรอบปีที่ผ่านมา (Photo : AFP)

เมื่อถามว่า ช่วงเดือนไหนที่ร้อนที่สุด ก็มีคำตอบจากซีเอ็มเอว่า เดือนสิงหาคม ถือว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของจีนในปีที่แล้ว จนกล่าวได้ว่า เป็น ฤดูใบไม้ร่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่จีนเคยบันทึกมาเลยก็ว่าได้

ส่วนเมืองที่ประสบกับสภาพอากาศร้อนที่ยาวนานที่สุด ทางซีเอ็มเอ ระบุว่า ต้องยกให้เมืองกว่างโจว หรือกวางโจว หรือคนไทยเรียกกันคุ้นปากว่า “กวางเจา” ซึ่งเป็นนครหลวงเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง เป็นเมืองที่เผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดอย่างยาวนานที่สุดของเมื่อปีที่แล้ว โดยประชากรที่พำนักอาศัยในนครกว่างโจวแห่งนี้ ต้องทนทุกข์ทรมานกับสภาพอากาศร้อนจัดยาวนานถึง 240 วัน ทำลายสถิติของเมื่อปี 1994 (พ.ศ. 2537) หรือ 31 ปีที่แล้ว ที่ร้อนยาวนาน 234 วัน แถมมิหนำซ้ำหลายวันเลยทีเดียวที่อุณหภูมิภายในเมืองกว่างโจว ก็ทะลุเกินกว่า 22 องศาเซลเซียส

ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดแบบทุบสถิติตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ทำให้จีนในหลายพื้นที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ตามมา เช่น การเกิดวาตภัย หรือภัยจากพายุอย่างรุนแรง ที่อิทธิพลของมันก่อให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน จนกลายเป็นน้ำท่วมสูงฉับพลัน ผู้คนนับหมื่นต้องอพยพหนีภัยธรรมชาติกันจ้าละหวั่น

ชาวจีนในหลายพื้นที่ต้องอพยพหนีน้ำท่วมสูงฉับพลัน หลังฝนตกต่อเนื่อง จากอิทธิพลพายุ สืบเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น (Photo : AFP)

โดยมีรายงานว่า เฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม ทางหลวงในพื้นที่ตอนใต้เกิดพังถล่มลงมาเพราะฝนเจ้ากรรม เทกระหน่ำลงมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 48 ราย

ขณะที่ หลายพื้นที่เช่น มณฑลเสฉวน ฉงชิ่ง และพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศ กลับประสบภัยแล้งอย่างรุนแรง แม้ว่าในหลายพื้นที่ดังกล่าว อยู่ใกล้กับแม่น้ำแยงซี หนึ่งในสายธารเส้นเลือดใหญ่ของจีนมาแต่ครั้งโบราณ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วงของปีที่แล้ว จากผลพวงของการเผชิญหน้ากับสภาพอากาศที่ร้อนทุบสถิติ

พื้นที่ทางการเกษตรหลายแห่งในจีน เผชิญกับภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา (Photo : AFP)

นอกจากจีนต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนเป็นประวัติการณ์แล้ว ชาวแดนมังกร ก็ยังผจญกับสภาพอากาศหนาวที่หนาวเหน็บอย่างสุดยะเยือกจับใจ โดยชะตากรรมดังกล่าว พวกเขาต้องเผชิญมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หรือช่วงเดือนธันวาคม 2024 ก่อนลากยาวและยังหนาวเหน็บอย่างจับใจในต้นเดือนมกราคม 2025 (พ.ศ. 2568) แบบไม่ผิดอะไรกับรับขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่กันเลยทีเดียว

ตามการเปิดเผยของซีเอ็มเอ ระบุว่า พื้นที่หลายเมืองในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน อุณหภูมิได้ติดลบจนไปต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียสกันแล้ว เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้

สภาพอากาศหนาวจนติดลบกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้หลายพื้นที่ของจีนกลายสภาพขาวโพลนไปด้วยหิมะที่ปกคลุม (Photo : AFP)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เมืองอาหลงซาน อุณหภูมิติดลบ 44 องศาเซลเซียส จนถูกยกให้เป็นเมืองที่หนาวที่สุดในปีนี้เลยก็ว่าได้ ตามด้วยเขตหูจง ในมณฑลเฮย์หลงเจียงอุณหภูมิติดลบ 41.5 องศาเซลเซียส และที่เมืองฮูหลุนเป้ยเอ่อร์ อุณหภูมิติดลบ 40 องศาเซลเซียส

ด้วยอุณหภูมิที่ติดลบขนาดนี้ ก็ส่งผลถ้วนทั่วทุกบริเวณที่กล่าวมา ล้วนขาวโพลนไปด้วยหิมะที่ตกลงมา ไม่เว้นกระทั่งบรรดาสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข เป็นต้น ที่ขนของพวกมันถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งจนขาวโพลน พร้อมกับความหนาวเหน็บเป็นที่ยิ่ง

เจ้าหน้าที่ของจีนช่วยกันตัดเจาะหิมะซึ่งกลายเป็นน้ำแข็งปกคลุมไปทั่วบริเวณจากการหิมะตกลงมา และอากาศที่หนาวจัดจนพื้นกลายเป็นน้ำแข็ง (Photo : AFP)