สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 37 บุรีรัมย์ จัดโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับนโยบาย Soft Power เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน ยกระดับทักษะความสามารถของแรงงาน ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และลดความเหลื่อมล้ำ หวังสร้างมาตรฐานการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะวิชาชีพ 

       เมื่อวันที่ 8 ม.ค.68 นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับนโยบาย Soft Power ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และโครงการพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 37 บุรีรัมย์ จัดขึ้น โดยมีบุคลากรจาก สมาคมองค์กรอาชีพเฉพาะทาง สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจโรงแรมและที่พัก หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา อาสาสมัครแรงงาน ผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มอาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ รวมกว่า 150 คน เข้าร่วมโครงการที่ห้องประชุม โรงแรมเทพนคร ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรม Soft Power รองรับนโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศ ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความสามารถ ในการประยุกต์ใช้ Soft Power ได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับทักษะแรงงาน ให้ได้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ตรงต่อความต้องการของตลาด ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสังคม และลดปัญหาการว่างงาน ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และสร้างโอกาสใหม่ ๆให้กับคนไทยทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับโลก 

      โดยภายในงานเป็นกิจกรรมการบรรยาย ให้ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง การออกบูธจัดแสดงนิทรรศการผลงานของกลุ่มอาชีพ การแสดงคีตมวยไทยและศิลปะการต้อสู้ของมวยไทย ที่ถือเป็นอีก Soft Power หนึ่งของ จ.บุรีรัมย์ จากกลุ่มเด็กและเยาวชนใน จ.บุรีรัมย์

นางวิสิษฐี ระจิตดำรง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 37 บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า การพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับนโยบาย Soft Power ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ในการนำความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมไทยมาใช้เป็นกลไกลในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วน โดยพาะภาคแรงงานจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ใน จ.บุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณค่าสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

        เพราะเมื่อมีการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับรายงานในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็เป็นการสร้างรายได้หลักและรายได้เสริม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาการว่างงานของคนแรงงานใน จ.บุรีรัมย์ โดย จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว 

       ดังนั้น ต่อไปจะมีการส่งเสริมและพัฒนาทางด้านภาษา เพื่อให้เกิดจุดเด่นทางด้านภาษา เพื่อใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังจะมีการเสริมทักษะในทุกๆด้านด้วย ทั้งในด้านการบริการ ด้านภาคการเกษตร โดยจะนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด.

​​​​​​​