ด้วยเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558-2562 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University) ที่มีเป้าหมายชัดเจนของการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals–SDGs) รศ.ดร.กิติกร รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะก่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร ความเท่าเทียมกันของสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย โดยหนึ่งในกลยุทธ์ในการดำเนินงานเพื่อการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ คือ การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment-Friendly Campus) กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีการพัฒนาระบบกายภาพในหลายๆด้าน ควบคู่กับการรณรงค์ให้เกิดการเรียนรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยมีตัวอย่างโครงการ ดังนี้ ธนาคารขยะรีไซเคิล * โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล - โครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงประชาชนรอบมหาวิทยาลัยสามารถเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อนำขยะมาขายให้กับโครงการฯ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้ปริมาณขยะในมหาวิทยาลัยลดลงจำนวนมาก ซึ่งตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ดำเนินโครงการมา มีปริมาณขยะรีไซเคิลที่สมาชิกนำมาฝากที่ธนาคารขยะ เป็นจำนวนถึง 1,920,891.98 กิโลกรัม คิดเป็นยอดเงินรับซื้อขยะรีไซเคิลจากสมาชิกเป็นจำนวนสูงถึง 10,173,818.03 บาท ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขยายผลและความสำเร็จ “โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล” ไปสู่โรงเรียนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะที่นับเป็นปัญหาระดับชาติ * โครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ - กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งโครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพขึ้น เพื่อนำขยะใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ภายในมหาวิทยาลัยกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยการนำมาหมักแบบกองเติมอากาศ ซึ่งจะทำให้เศษวัสดุต่างๆ มีการย่อยสลายได้เร็วขึ้นและได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ต้องใช้แรงงานในการพลิกกลับกอง ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำ และสามารถจัดการกับขยะได้ในระยะเวลาอันสั้น และยังสามารถนำปุ๋ยหมักที่ได้ไปใช้ในการดูแลบำรุงรักษาสภาพภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัย หรือจำหน่ายให้กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยนำรายได้ทั้งหมดเข้าสู่กองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ปีละประมาณ 200,000 บาท * โครงการบำบัดน้ำเสีย - หลังจากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เกิดการชำรุดเสียหาย ทางมหาวิทยาลัยจึงมีการศึกษา สำรวจ และออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Central Treatment) โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน พบว่าคุณภาพน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมีคุณสมบัติผ่านมาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด และโครงการฯ นี้ยังสามารถนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมารีไซเคิลใช้แทนประปา เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้น้ำประปาได้ประมาณ 1,000 ลบ.ม./วัน ประหยัดค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยได้ 27,000 บาท/วัน * อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ - อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นอุทยานธรรมชาติเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวบรวมพันธุ์สมุนไพรที่ปรากฏในตำรายาไว้มากที่สุด ประมาณ 800 ชนิด นอกจากนี้ภายในอุทยานฯ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ นิทรรศการ “สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล” ให้ผู้ชมได้เข้าใจภูมิปัญญาไทย การประยุกต์ใช้สมุนไพร ทั้งในเชิงการใช้ชีวิตประจำวันและในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญอุทยานฯ ได้จัดสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การออกแบบเพื่อมวลชน” (Universal Design) โดยเป็นการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของเครื่องใช้ ที่อำนวย ความสะดวก ให้แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่ด้อยสมรรถภาพด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมทุกกลุ่ม แปลงผักปลอดสารพิษ * โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ - เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปสมุนไพรศาลายา ร่วมกับอำเภอพุทธมณฑลและมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ใช้พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ บริเวณด้านข้างอาคารคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อดำเนินการโครงการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังได้มีการ ปลูกผักปลอดสารพิษบนอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ซึ่งอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดลยังคงมีพื้นที่ที่สามารถปรับปรุงให้เกิดการใช้ประโยชน์และพัฒนาการเรียนรู้ จึงเกิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) ที่ปลอดสารพิษ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร ส่งเสริมการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภคอีกด้วย * โครงการพลังงานไบโอดีเซล - โครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันประกอบอาหารของศูนย์อาหารเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2560 จากการไปศึกษาดูงานจากฟาร์มโชคชัยมาเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้นำน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงอาหาร กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งโดยการผ่านกระบวนการ โดยใช้ต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลเพียง 19 บาท ต่อ 1 ลิตร เท่านั้น และไบโอดีเซลที่ได้ก็จะนำไปใช้กับรถขนของ รถบรรทุกต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย และนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนโดยรอบต่อไป ไบโอดีเซล * โครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก - มหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติกขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาคมมหิดลเกิดการลดใช้ถุงพลาสติกและนำถุงพลาสติกที่มีสภาพใหม่กลับมาใช้ซ้ำและเห็นคุณค่าในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ล่าสุดหลังเปิดตัวโครงการมาเกือบ 2 ปี โดยทางมหิดลได้ขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อจำนวน 12 ร้านใน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าโดยเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อนำถุงผ้ามาเอง หรือเลือกบริจาคค่าถุงพลาสติกใหม่ในราคา 2 บาท หรือใช้ถุงพลาสติก reuse ส่งผลให้ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หรือลดการใช้ถุงพลาสติกได้เกือบถึง 2 ล้านใบต่อปี “ในอนาคต มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนที่จะแสวงหาความร่วมมือ ต่อยอดหลายๆ โครงการฯ ของมหาวิทยาลัย ไปยังชุมชนใกล้เคียงและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่อไป เรามุ่งมั่นไม่เพียงแต่จะให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เราอยากให้ทั้งชุมชนของเรา ประเทศของเรา เป็นต้นแบบด้วยเช่นเดียวกัน” รศ.ดร.กิติกร กล่าวทิ้งท้าย