วันที่ 8 ม.ค.68 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายวิพุธ ศรีวะอุไร รองประธานสภากรุงเทพมหานครคนที่ 1 เป็นประธานเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพัฒนาคุณภาพของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้อ่านออกเขียนได้ และดูแลร่างกายให้มีสุขอนามัยที่ดี โดยกล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ที่ผ่านมา สำนักการศึกษาของบประมาณปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยปี 2565 ใช้งบประมาณ 838,825,259 บาท ปี 2566 ใช้งบประมาณ 1,521,547,500 บาท ปี 2567 ใช้งบประมาณ 2,149,815,300 บาท ปี 2568 ใช้งบประมาณ 1,903,018,000 บาท แต่ปัจจุบันพบนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. อ่านหนังสือไม่ออกประมาณร้อยละ 17 หรือกว่า 170,000 คน ดังนั้น นโยบายสนับสนุนเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ จะมีประโยชน์อย่างไร เพราะยังมีเด็กนักเรียนอ่านไม่ออกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน จากข้อมูลปี 2555-2567 กทม.มีนักเรียนในสังกัดน้อยลงจาก 313,873 คน เหลือ 258,316 คนในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบโรคเหาระบาดในนักเรียน และเรื่องสุขอนามัยต่าง ๆ ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย จึงขอให้ผู้บริหาร กทม.ลงพื้นที่เพื่อพบปัญหาที่แท้จริง
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า โรงเรียนสังกัด กทม. มีแบบทดสอบประเมินการอ่านเขียนของนักเรียนอยู่แล้ว ผู้ปกครองและครูรับทราบเพราะต้องมีการลงนามรับรองว่าบุตรหลานทำแบบทดสอบต่อเนื่องจริงหรือไม่ แต่ยังพบนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่ สะท้อนว่าไม่มีการติดตามกำกับดูแลนักเรียนตามระเบียบและเกณฑ์กำหนดเท่าที่ควร และอาจเกิดปัญหาการกำกับดูแลภายในหน่วยงานสำนักการศึกษาหรือไม่ เพราะ กทม.มีระเบียบแนวทางด้านการเรียนการสอนชัดเจน แต่อาจไม่มีการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องติดตามในเชิงลึกว่าจริง ๆ แล้วปัญหาเกิดจากอะไร เชื่อว่าฝ่ายบริหาร กทม.ทราบดี
ขณะที่ นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการศึกษามาโดยตรง อาจมีผลต่อการกำกับดูแลบุคลากรในสังกัดหรือไม่ ทำให้การปฏิบัติตามระเบียบดำเนินการต่าง ๆ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
นายชัชชาติ กล่าวว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ กทม.ให้ความสำคัญด้านการศึกษา เพราะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ ต้องขอบคุณสภา กทม. ที่เสนอเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหานักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ว่า เรื่องดังกล่าวคาดว่าสำนักการศึกษาดำเนินการมาแล้วกว่า 10 ปี ปัญหาหลักคือ ความต่อเนื่องในการเรียนของนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนสังกัด กทม. ไม่สามารถเลือกรับนักเรียนเหมือนโรงเรียนเอกชนได้ จากรายงานพบว่านักเรียนส่วนหนึ่งที่มาสมัครเรียน มีประวัติการเรียนไม่ต่อเนื่อง เช่น บางคนเคยเรียนมาแล้ว 2 ปี แล้วเว้นช่วงไป จากนั้นกลับมาเรียนใหม่ จึงขาดความต่อเนื่องในการเรียน แนวทางแก้ไขคือ จัดให้มีการทำแบบทดสอบการเขียนหนังสือทุกปี หากพบนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ จะให้ครูกวดขันนอกเวลาเพิ่มเติม ซึ่งดำเนินการมาแล้วทุกปี ทำให้ทราบจำนวนนักเรียนที่เขียนไม่ได้อ่านไม่ออกในแต่ละปี เพื่อกวดขันต่อเนื่องต่อไป อีกปัญหาที่พบคือ ครูไม่เพียงพอ หากเติมครูได้ครบก็น่าจะช่วยแก้ปัญหา เพราะมีแนวทางที่ชัดเจนอยู่แล้ว รวมถึงมีแนวทางเพิ่มค่าตอบแทนให้ครูในการดูแลเด็กเพิ่มเติมด้วย