วันเด็กแห่งชาติปีนี้คนขอนแก่น ฝากถึงรัฐบาลกำหนดมาตรการชัดเจนแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ หลังพื้นที่พยายามแก้ไขปัญหามาตลอดแต่นับวันเด็กจะหลุดออกจากการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

วันที่ 8 ม.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเด็กแห่งชาติปีนี้พบว่ายังคงมีคณะครู และผู้ปกครอง เรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเด็กชายขอบ เด็กริมราง และกลุ่มเด็กนักเรียนที่ออกจากระบกาศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับที่นับวันจะมีเด็กกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก 

น.ส.โยธิตา สิงหาราม ผู้ปกครองนักเรียน ชาว จ.ขอนแก่น  กล่าวว่า ยอมรับว่าปัจจุบันเด็กๆ ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาพากันเล่นอยู่แต่กับโทรศัพท์และไปเดินเล่นห้างสรรพสินค้า แต่ที่พบคือส่วนมากจะเล่นเกมส์ในโทรศัพท์ ทำให้กลุ่มผู้ปกครองห่วงและกังวลเรื่องการติดโทรศัพท์ติดเกมส์และเวลาออกไปข้างนอกไม่รู้จะไปไหน และกลัวบุตร-หลานได้รับอันตราย 

"วันนี้ขอนแก่นมีโรงเรียนริมราง มีครูมาสอนพบว่าเด็กในชุมชนอยู่กับครูทั้งวัน และไม่ค่อยขอเงินไปซื้อขนมด้วยเพราะครูจะมีขนมมาแจก วันเด็กปีนี้ในฐานะผู้ปกครองอยากให้ลูกมีการศึกษาดีๆเรียนจบสูงๆเพราะตัวแม่เองก็ลำบากหาเช้ากินค่ำและมาอยู่ในที่ดินที่ไม่ใช่ของตัวเอง อยากให้ลูกมีการศึกษาดีๆทำงานดีๆช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เป็นภาระสังคม"

ขณะที่ น.ส.จันทิมาพร ชีวะสวัสดิ์ ครูโรงเรียนริมราง กล่าวว่า โรงเรียนริมรางเกิดจากการที่ตัวเองเป็นครูที่โรงเรียนและได้ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนเด็ก จึงได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเมือง ได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมชุมชนในอีกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เห็นว่าพื้นที่เมืองขอนแก่นมีอยู่หลากหลายกลุ่มและยังมีอีกกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงว่าคนกลุ่มนั้นใช้ชีวิตอย่างไรทำงานอะไรแบบไหนแล้วเด็กๆในชุมชนทำอะไรกันบ้าง

"โรงเรียนริมรางจึงเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่ชุมชนริมรางรถไฟ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ในขณะที่ผู้ใหญ่กำลังขับเคลื่อนเรื่องที่อยู่อาศัยเด็กๆเหล่านั้นทำอะไรอยู่บ้างพบว่าในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เด็กๆจะไม่มีโอกาสไปเรียน อย่างเด็กทั่วไป   จึงสอบถามผู้ปกครองทราบว่าเวลาวันว่างๆเด็กๆไม่ได้ทำอะไรเดินเล่นแถวริมราง เล่นโทรศัพท์มือถือและพบว่าในชุมชนอาจจะมีความเสี่ยงอื่นๆที่เด็กอาจจะเข้าไปอยู่ใกล้ๆ โรงเรียนริมรางจึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้มาเจอกับเพื่อนๆพี่ๆและดึงมาเรียนรู้ในสิ่งที่อาจจะไม่มีโอกาสเรียนรู้ เช่น การพัฒนาทักษะทำสื่อบอร์ดเกมส์ แม้กระทั่งการทำงานภายในความรู้สึกของตัวเองการดูแลตัวเอง ถ้าตัวเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจะดึงให้มาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆมีเหตุผลเยอะมากว่าทำไมเด็กคนนึงถึงเลือกที่จะไม่ไปโรงเรียนหรือโรงเรียนเลือกที่จะไม่ดึงเด็กเข้าไป"

น.ส.โยธิตา กล่าวต่ออีกว่า โรงเรียนริมรางทำได้คือทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กรู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ของพวกเค้าและสามารถเข้ามาเจอกับทุกๆคนได้ ปัจจุบันทุกอย่างการจะเข้าถึงการเรียนรู้ต้องเสียเงินและมีกลุ่มคนที่ไม่มีเงินมากพอที่จะเอาเงินไปลงทุนกับเรื่องนี้เพราะฉะนั้นแหล่งเรียนรู้ควรจะเข้าถึงแหล่งชุมชนในทุกชุมชนการที่เด็กอยากเรียนรู้ต้องเป็นเรื่องที่ฟรี ยังอยากขยับของโอกาสการเข้าถึงพื้นที่แหล่งเรียนรู้การเรียนรู้เพราะมีเด็กอีกเยอะมากทั้งที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและกำลังจะหลุดออกจากระบบแต่การเข้าถึงการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ยังไม่ฟรีและยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ถ้าทุกชุมชนมีแหล่งเรียนรู้เป็นของตัวเองหรือมีผู้สร้างการเรียนรู้ในชุมชนเองโดยที่ไม่ต้องรอคนจากข้างนอกมาเข้าทำให้จะดีมากเพราะเด็กจะได้เข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน 

"ฝากถึงรัฐบาลว่าถ้าเห็นเด็กทุกกลุ่มมากพอ อย่าไปมุ่งเน้นพัฒนาเด็กที่อยู่บนจุดยอดสุดของฐานพีระมิด ที่พร้อมจะไปแข่งขันทางวิชาการเก่งๆเพียงอย่างเดียว เพราะยังคงมีเด็กที่มีการเรียนกลางๆว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องการอะไรและรัฐบาลมีพื้นที่จะรองรับความหลากหลายนั้นหรือไม่หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ฐานต่ำสุดแค่ปัจจัยพื้นฐานที่เด็กจะไปถึงรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือให้มากกว่านี้ อย่าปล่อยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา  ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วโรงเรียนมีอำนาจที่จะจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ทุกคนและถ้าโรงเรียนทำได้จริงๆเด็กที่หลุดออกจากระบบจะไม่มีเลย จะไม่มีโรงเรียนไหนผลักเด็กออกไปจากระบบเพียบเพราะว่าเรื่องพฤติกรรมต่างๆ บทบาทของโรงเรียนคือทำยังไงให้รักษาเด็กเหล่านี้ให้อยู่ในระบบให้ได้นานที่สุดถ้าดูแลได้ตั้งแต่ต้นน้ำปลายน้ำที่เด็กหลุดออกจากระบบประมาณ 1 ล้านกว่าคนจะเกิดได้ยากมาก อยากฝากรัฐบาลให้มองเห็นเด็กทุกระดับทุกกลุ่มและเข้ามาช่วยให้เด็กอยู่ในระบบได้นานที่สุดเพื่อให้ไปต่อยอดชีวิตได้ในอนาคตได้ดีขึ้น"

ด้านนายอังคาร ชัยสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เด็กที่จะเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาทุกวันนี้มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นเพราะว่าวิถีชีวิตวัฒนธรรม สังคมที่เปลี่ยนไปของตัวเด็กเองส่วนหนึ่งขาดวินัยไม่ใฝ่เรียนรู้ ไม่อยากมาโรงเรียนมากขึ้น แต่สิ่งที่เด็กชอบและติดเรื่องเทคโนโลยีเรื่องโซเชียล เล่นเกมส์ ดูหนัง ฟังเพลง จนดึกทำให้สิ่งที่ชอบและติดไปอยู่ตรงนั้นมากกว่าสนใจการเรียนพลังชีวิตที่อยากมาเรียนจึงเป็นเรื่องรองจึงมาโรงเรียนในสภาพที่ไม่พร้อมจะเรียน เด็กไม่พร้อมที่จะเรียนก็เป็นปัญหาสำคัญ ครอบครัวก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยเช่นกัน

"เด็กหลายคนครอบครัวไม่อบอุ่น ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อยู่กับตา ยาย หรืออยู่ในครอบครัวที่ลำบากบางคนไม่มีเงินมาโรงเรียนอยู่ในภาวะยากลำบาก ครูเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขจะทำยังไงให้ครูเป็นนักสังคมสงเคราะห์มากขึ้นเด็กทุกวันนี้ครอบครัวไม่พร้อมนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พร้อมที่จะเรียนหรือไม่ใฝ่เรียนถ้าครูทำหน้าที่เป็นครูที่โอบอุ้มโอบกอดเด็กเหล่านี้ไม่ว่าเด็กจะไปเจออะไรมาจากไหนเมื่อมาถึงห้องเรียนคคูจะต้องทำการโอบกอดเด็กไว้ทำหน้าที่มากว่าครูคือเป็นนักสังคมสงเคราะห์ช่วยทุกอย่างเข้าใจทุกอย่าง ปรับให้เด็กมีความสุขและพร้อมที่จะเรียน ทางโรงเรียนพยายามคิดเรื่องนี้มาโดยตลอดจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าเด็กไม่อยากมาโรงเรียนหรือเด็กมาโรงเรียนแล้วปล่อยให้เด็กหลุดออกนอกระบบไปซึ่งจะไปเจออะไรก็ไม่รู้ อย่างเจอเครือข่ายยาเสพติด เครือข่ายแบบนี้เข้มแข็งมากในนอกโรงเรียนภาระกิจของโรงเรียนจะจัดสภาพแวดล้อมจัดบรรยากาศของโรงเรียนให้น่าอยู่มีพื้นที่ให้เด็กได้เล่น มีกิจกรรมมีกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่เน้นวิชาการเข้มๆอย่างเดียวแต่ไม่ได้ทิ้งวิชาการแต่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำเน้นปฏิบัติจริงให้ทำงานกับเพื่อนให้มีความสุขในรอบรั้วโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมธรรมชาติ เรื่องอาชีพ ทำนา ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมมากขึ้นนี่เป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย"