มรดกกาแฟโรบัสต้าสตูล เปิดศักยภาพธุรกิจกาแฟท้องถิ่นระดับพรีเมียม สู่ บาริสต้ามืออาชีพ

   วิทยาลัยชุมชนสตูล  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ได้เปิดหลักสูตร “บาริสต้ามืออาชีพ” ตามโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้กาแฟสตูล โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมอบรมยกระดับพัฒนาอาชีพการชงกาแฟให้ได้มาตรฐานโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ  

 โดยการอบรมในครั้งนี้ได้ฝึกการทำเมนู  อาทิ   แบล็คบานาน่า  ที่ใช้กาแฟพันธุ์โรบัสต้า พรีเมี่ยมสตูล ซึ่งเป็นกาแฟที่โดดเด่นในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า  ด้วยการดริป ชงและเช็ค ผสมกับน้ำหวานจากกล้วยน้ำหว้า   ตกแต่งด้วยภาชนะให้สวยงาม เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กาแฟสตูลโดดเด่น น่าลิ้มลองเหมาะกับเมืองท่องเที่ยว

 

 นอกจากนี้ได้ฝึกเมนู  แบล็คโคโค่  และเมนูยอดนิยมที่อีกหลากหลายที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ   ฝึกให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ และดริปกาแฟให้ถูกใจคอกาแฟ  พร้อมเผยเคล็ดไม่ลับโดยใช้วัตถุดิบกาแฟโรบัสต้าพันธุ์สตูลมาปรุงแต่งมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

   นางสาวพัณณ์ชิตา รุ่งหิรัญเจริญวุฒิ 42 เป็นไกด์ กล่าวว่า  ตนเป็นไกด์การเข้าอบรมในครั้งนี้หวังว่าจะนำความรู้ไปบอกกล่าว และชงให้กับนักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองและรู้คุณค่าของกาแฟโรบัสต้า สายพันธุ์สตูลว่ามีรสชาติ กลมกล่อมขนาดไหน เพื่อจะให้เกิดความประทับใจมาดื่มอีกและซื้อเป็นของฝากของขวัญสินค้าดีเด่นของสตูล

 นายลาภวัต เอี่ยมสอาด  ปธ.กลุ่มส่งเสริมอาชีพปลูกกาแฟโรบัสต้าควนโดน กล่าวว่า  สถานการณ์กาแฟโรบัสต้าสตูลขณะนี้ถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก และราคาดีมาก ขณะนี้สารกาแฟกิโลกรัมละ 400 บาทในเกรดพรีเมี่ยม ตลาดมีความต้องการมาก ซึ่งอยากให้ภาครัฐมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟคุณภาพ 

  นางนิสรีน  ล่านุ้ย  เจ้าของโครงการฯ จากวิทยาลัยชุมชนสตูล  กล่าวว่า   วิทยาลัยชุมชนสตูลประกาศความสำเร็จในการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ "กาแฟสตูล" 6 แห่ง กระจายตัวในพื้นที่สำคัญของจังหวัด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตและแปรรูปกาแฟโรบัสต้าแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ความพิเศษของกาแฟโรบัสต้าสตูลอยู่ที่ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 50-80 ปี สืบทอดมาจากต้นพันธุ์ดั้งเดิมที่นำเข้าจากมาเลเซีย ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดสตูล 276 ครัวเรือน รวมพื้นที่ 243 ไร่ ให้ผลผลิตปีละกว่า 120,262 กิโลกรัม

 แหล่งเรียนรู้ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย YOT Coffee (อำเภอท่าแพ) สวนเลบันเด้ (อำเภอควนโดน) สวนกาแฟเขาค้อม (อำเภอควนกาหลง) ไร่กาแฟนายเอก และโกปี๊นาข่า (อำเภอละงู) และ Coffee Engineering (อำเภอเมืองสตูล) โดยทุกแห่งพร้อมถ่ายทอดความรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย

  "โครงการนี้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดกาแฟไทยที่เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี และแนวโน้มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับกาแฟคุณภาพมากขึ้น" ทั้งนี้ แหล่งเรียนรู้เปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพื่อต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟโรบัสต้าสตูลอย่างยั่งยืน