กลายเป็นของคู่กัน แบบเมื่อเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อีกสิ่งหนึ่งก็จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อนั้น

สำหรับ “ความหนาว” กับ “ฝุ่นละอองหมอกควันพิษขนาดจิ๋ว” หรือที่หลายคนเรียกกันจนติดปากว่า “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5”

โดยพลันที่สภาพอากาศเย็น จากฤดูหนาว มาเยือน ก็จะเกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อันเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอนตามมา

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอากาศเย็นของฤดูหนาว เป็นสภาพอากาศที่แห้ง ความชื้นน้อย ทำให้ฝุ่นละอองต่างๆ ฟุ้งกระจายได้โดยง่าย แตกต่างจากฤดูกาลอื่นๆ ที่มีความชื้นในอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฤดูฝน แทบจะไม่เห็นฝุ่นละอองฟุ้งกระจายกันเลย ซึ่งฝุ่นละอองที่นับว่า เป็นภัยร้าย ก็คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจิ๋ว เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 ข้างต้น เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งของมนุษย์ และสัตว์ต่างๆ

ทั้งนี้ แม้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีขนาดเล็กจิ๋ว แต่ต้องบอกว่า พิษของมันนั้นร้ายเหลือ ซึ่งตามการเปิดเผยของผู้เชี่ยวชาญด้นการแพทย์เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบุว่า ยิ่งฝุ่นมีขนาดเล็กจิ๋ว ยิ่งอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เรา และสัตว์ต่างๆ มากเท่านั้น

โดยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ข้างต้น สามารถถูกมนุษย์และสัตว์ สูดเข้าทางเดินหายใจ ไปถึงส่วนลึกของอวัยวะปอด อันจะก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ตั้งแต่จมูก ไปจนถึงระบบอวัยวะภายใน เริ่มจากการแสบโพรงจมูก ก่อนส่งผลเบื้องต้นให้เกิดอาการไอ จาม มีเสมหะ และอาจทำให้ป่วยเป็นหอบหืด ปอดอักเสบติดเชื้อ รวมถึงอาจทำให้เกิดเนื้อร้ายกลายเป็นมะเร็งปอดได้

ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หาได้แต่เพียงทำร้ายต่อระบบทางเดินหายใจ และอวัยวะปอดเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียไปถึงระบบอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะหัวใจ และอวัยวะสมอง โดยอาจถึงขั้นทำให้อวัยวะหัวใจ เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ส่วนอวัยวะสมอง ก็อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบได้

นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ก็ยังออกมาเตือนด้วยว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สามารถทำร้ายชั้นผิวหนังของมนุษย์เราได้ด้วย โดยเมื่อฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มาสัมผัสกับผิวหนัง ก็อาจทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้า ซึ่งปฏิกริยาเบื้องต้น ก็ทำให้เกิดอาการระคายเคืองคันตามร่างกาย ที่ร้ายหนักกว่านั้น ก็ถึงขั้นทำให้เกิดผดผื่น รวมถึงปวดแสบ หรือแสบร้อน ตามร่างกายที่ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ฟุ้งปลิวลอยละล่องมาสัมผัส

โดยกลุ่มประเทศที่กำลังเผชิญกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จากผลพวงของฤดูหนาวที่กำลังกระหน่ำในหลายพื้นที่ ณ เวลานี้ ก็คือ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรา

ยกตัวอย่างประเทศไทย ที่มีการวัดคุณภาพอากาศในเมืองหลวง คือ กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ที่กำลังเผชิญหน้ากับสภาพอากาศหนาวที่สุดช่วงหนึ่งของฤดูหนาวในปีนี้ของไทย ปรากฏว่า พื้นที่ 55 เขตในกรุงเทพมหานคร มีค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐานระดับสีส้ม ซึ่งหมายความว่า ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนที่พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ 55 เขตดังกล่าวที่มีการแจ้งเตือนไป

สถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นขึ้นของฤดูหนาว จนกรุงฮานอย ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่อัตราเฉลี่ยค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ต่อพื้นที่ลูกบาศก์เมตรสูงที่สุดในโลก (Photo : AFP)

อย่างไรก็ดี ประเทศที่นับว่ากำลังประสบปัญหากับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่หนักหนาสาหัสมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ชั่วโมงนี้ ก็เห็นจะเป็นประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรุงฮานอย เมืองหลวง ที่ตามการเปิดเผยในดัชนีคุณภาพอากาศ โดยแอร์วิชวล จากสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงเร็วๆ นี้ที่ผ่านมา ปรากฏว่า กรุงฮานอย ถูกจัดให้เป็นเมืองที่ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงที่สุดในโลก จนถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ ที่เมืองหลวงของเวียดนามแห่งนี้ ขึ้นสู่อันดับสูงสุดในกลุ่มประเทศที่ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ระดับแถวหน้าของโลก

ด้วยอัตราเฉลี่ยของค่าฝุ่นที่วัดได้ในกรุงฮานอย เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สูงถึง 266 ไมโครกรัมต่อพื้นที่ 1 ลูกบาศก์เมตร

ตัวเลขข้างต้น ก็ส่งผลให้กรุงฮานอย ขึ้นมาอยู่อันดับ 1 แซงหน้าในหลายๆ เมือง แม้กระทั่งเมืองในกลุ่มประเทศของภูมิภาคเอเชียใต้ที่เป็นที่รู้กันเป็นอย่างดีว่า ค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เฉลี่ยต่อลูกบาศก์เมตรในเต่ละพื้นที่นั้นสูงเพียงใด เช่น ประเทศอินเดีย ยกตัวอย่างในกรุงนิวเดลี เป็นต้น ที่มีอัตราเฉลี่ยค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ต่อลูกบาศก์เมตรในระดับสูง รวมไปถึงกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ที่มีอัตราค่าเฉลี่ยฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ต่อลูกบาศก์เมตร สูงระดับเบอร์ต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ กรุงฮานอย ก็ยังแซงหน้ากรุงซาราเจโว เมืองหลวงของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา ที่ได้ชื่อว่า มีอัตราเฉลี่ยของค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ต่อลูกบาศก์เมตรสูง ระดับแถวหน้าในภูมิภาคยุโรป

การใช้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมากในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม (Photo : AFP)

โดยการเปิดเผยในรายงานของแอร์วิชวล ระบุว่า ชาวกรุงฮานอย ซึ่งมีจำนวนราว 9 ล้านคน กำลังสูดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้าปอดจนน่าสะพรึง และถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่กำลังเผชิญหน้ากับสภาพมลภาวะทางอากาศ จากฝุ่นพิษจิ๋วลอยกระหน่ำ

ถึงขนาดทางการต้องออกมาประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนชาวกรุงฮานอยว่า ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือถ้าจะให้ดีก็ต้องเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพป้องกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ ซึ่งมีความแน่นหนากว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป และควรอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งด้วยเวลาที่จำกัด คือ ไม่ควรอยู่นาน

การก่อสร้างตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ในกรุงฮานอย (Photo : AFP)

อย่างไรก็ตาม บรรดาประชาชนชาวกรุงฮานอย ออกมาบ่นๆ ต่อการประกาศแจ้งเตือนดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขา รวมถึงการที่สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก็ทำให้พวกเขาหายใจลำบาก โดยมันทำให้หายใจลำบากเสียยิ่งกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดาๆ ที่เคยใช้สวมป้องกันโควิดฯ ด้วยซ้ำ

ทว่า ก็มีชาวกรุงฮานอยจำนวนหนึ่ง เห็นด้วยกับการประกาศแจ้งเตือนของทางการเวียดนามข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มได้รับผลกระทบต่อสุขภาพของพวกแล้ว จากการเผชิญหน้ากับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เช่น เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจของพวกเขา ทั้งแสบโพรงจมูก ไอ จาม เป็นต้น

เกษตรกรในกรุงฮานอย เผาเศษซังพืชไร่ในพื้นที่ทางการเกษตรของพวกเขา (Photo : AFP)

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบข้างต้น ยังตำหนิวิจารณ์ไปถึงสิ่งที่พวกเขาคิดว่า น่าจะเป็นต้นตอก่อให้เกิดฝุ่นพิษจิ๋วที่พวกเขาเผชิญกันก็คือ การใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก การทำกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนการเผาเศษซังพืชไร่ในพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเตรียมปลูกพืชไร่ในคราวต่อไป รวมไปถึงการก่อสร้างที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดในเมืองหลวงของพวกเขาแห่งนี้