หลังการจัดระเบียบตลาดโบ๊เบ๊ของภาครัฐ ในท่าทีรื้อถอนที่ขึงขัง ยึดกฎหมายอย่างจริงจัง เมื่อ ก.ค.2566 เพื่อเพิ่มทัศนียภาพคลองผดุงกรุงเกษมให้สวยงาม สะอาด เป็นระเบียบ ปลอดภัย มีการทาสีตึกเก่าสร้างความโดดเด่นในย่าน พร้อมประกาศส่งเสริมการค้าออนไลน์ด้วยการร่วมมือกับแอปพลิเคชัน TikTok จัดอบรมผู้ค้าโบ๊เบ๊ให้สามารถปรับวิธีขายให้สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบัน ถึงวันนี้เวลาผ่านไปใกล้ 2 ปีแล้ว สถานการณ์ชาวโบ๊เบ๊เป็นอย่างไรบ้าง
นายพระขรรค์ชัย ศรีภวาทิกุล อุปนายกสมาคมชาวโบ๊เบ๊ ในฐานะตัวแทนของผู้ค้าตลาดโบ๊เบ๊ เล่าว่า ตลาดโบ๊เบ๊มีมากว่า 50 ปี จุดเด่นคือขายสินค้าราคาส่ง หรือส่งออกครั้งละจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปขายต่ออีกทอดในราคาปลีก เป็นที่เข้าใจของผู้ซื้อมายาวนาน ต่ออาชีพหมุนรายได้ออกไปในวงกว้าง เพราะผู้ซื้อนำไปขายต่อในรูปแบบของตัวเอง หลังจากการจัดระเบียบโบ๊เบ๊ดังกล่าวถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้ริมคลองผดุงฯ มีความสวยงาม สะอาด ประชาชนได้ใช้พื้นที่สาธารณะโดยสะดวก รวมถึงการย้ายร้านรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ 719 ร้าน ไปอยู่ในพื้นที่ด้านในที่ภาครัฐจัดไว้ให้ ยังช่วยให้ผู้ค้าเสียค่าเช่าถูกลง ไม่ต้องแบกรับภาระค่าเช่าสูงเหมือนที่เคยเป็นมาหลายสิบปี ซึ่งชาวโบ๊เบ๊ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ เช่น การเปิดหน้าร้านออนไลน์ เป็นเรื่องที่ผู้ค้าทำอยู่แล้ว แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การที่ทุกร้านหันไปเน้นออนไลน์กันหมด แล้วอัตลักษณ์ของตลาดโบ๊เบ๊จะเหลืออะไร
เนื่องจากการค้าขายส่วนใหญ่เป็นการขายส่งจำนวนมาก จึงไม่คล่องตัวเหมือนการขายปลีกในระบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน ตลาดโบ๊เบ๊ไม่ได้มีแต่เสื้อผ้าหรือสินค้าราคาส่ง แต่ยังมีร้านค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ และบริการต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำออนไลน์ได้ แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมด สิ่งสำคัญคือการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่จริง เพื่อหมุนธุรกิจในย่าน ให้รู้ว่าตลาดโบ๊เบ๊ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ยอดขายผู้ค้าตลาดโบ๊เบ๊หายไปร้อยละ 30 จำนวนผู้ค้าหายไปร้อยละ 10 แนวคิดในการเข้าโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี แต่การขับเคลื่อนในโลกความจริงทำได้ยาก เชื่องช้า หลังการจัดระเบียบผู้ค้าบางส่วนถอดใจไม่ดำเนินการต่อ ประกอบกับลูกหลานของผู้ค้าเดิมไม่สานต่อธุรกิจ หันไปหาหนทางอื่น ๆ จึงทำให้โบ๊เบ๊วันนี้ยังไม่ฟื้นตัว เหลือแต่ผู้ค้าดั่งเดิม ไม่มีรุ่นใหม่สานต่อเท่าที่ควร ซึ่งเหตุผลของแต่ละคนก็ต่างกันไป บ้างว่าเป็นผลพวงของการจัดระเบียบพัฒนาพื้นที่ บ้างว่าเป็นผลพวงของเศรษฐกิจ ในส่วนของสมาคมฯ พยายามส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แต่ยังไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตลาดโบ๊เบ๊ แต่ยังรวมไปถึงตลาดนัดสวนจตุจักร ประตูน้ำ สำเพ็ง ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว มีจำนวนมาก มีการซื้อมากขึ้น แต่ผู้ซื้อส่วนใหญ่มีพฤติกรรมซื้อปลีก ไม่ได้ซื้อส่งหรือซื้อครั้งละจำนวนมากเหมือนก่อน ซึ่งไม่ตรงเป้าหมายของตลาดขายส่ง ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้ซื้อมากขึ้นจริง แต่ผู้ค้ากลับขายสินค้าได้น้อยลงกว่าเดิม
นายพระขรรค์ชัย กล่าวต่อว่า ผู้ค้ามีการทบทวนตัวเองอยู่เสมอ กระทั่งหาจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป ในด้านสินค้ามีการพัฒนาแบบอย่างต่อเนื่องร่วมกับกลุ่มพันธมิตรหลายหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริม ขณะเดียวกัน ด้านราคาก็ไม่มีการปรับเพิ่ม แต่การลดลงของลูกค้ากว่า 30% ถือว่าไม่น้อย ส่วนเสียงสะท้อนจากผู้ค้า พบว่า สาเหตุสำคัญหนึ่งคือการที่ร้านค้าขยับเข้าไปอยู่ในซอยด้านใน ทำให้การมองเห็นน้อยลง มีผลต่อการค้าขายในย่านมาก แต่ผู้ค้าเข้าใจดีเรื่องการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ สมาคมฯ จึงพยายามปรับตัวโดยใช้ช่องทางการค้าที่มี เช่น เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น นำไปให้ผู้ค้าช่วยกันพัฒนาช่องทางออนไลน์
“วันนี้ อยากให้ภาครัฐเข้ามาจัดกิจกรรมในพื้นที่ของเรา ไม่ว่าย่านใดก็ตาม เพื่อให้ย่านการค้ามีโอกาสประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบว่าเรายังมีอยู่ เราอยู่ตรงไหนบ้าง เราพร้อมที่จะร่วมมือช่วยจัดโปรโมชั่นหรือเรื่องต่าง ๆ อยากให้มีการประชาสัมพันธ์พื้นที่มากขึ้นเพื่อช่วยผู้ค้าอีกทางหนึ่ง เพราะวันนี้ไม่คึกคักเหมือนก่อน ผู้ค้าในตลาดส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เฉพาะโบ๊เบ๊” นายพระขรรค์ชัย กล่าว
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดออนไลน์ (E-commerce) สร้างความตื่นตัวและส่งผลกระทบไปทั่วโลก พฤติกรรมการขายรูปแบบเก่า เช่น แบบรับมาขายไปอาจต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะปัจจุบันตลาดออนไลน์เปิดกว้างอย่างมาก มีสินค้าจากต่างประเทศไหลเข้ามาให้เลือกซื้อในราคาที่ถูกกว่า คุ้มค่ากว่า นอกจากนี้ ปัจจุบันยังเป็นยุค Disruption คือกระบวนการแทรกแซงโดยรูปแบบธุรกิจใหม่ที่สามารถแทรกแซงผู้นำธุรกิจรายเดิมได้ ดังนั้น ตลาดโบ๊เบ๊จำเป็นต้องปรับตัวด้านรูปแบบสินค้า และวิธีการขาย จากการสำรวจตลาดทุกแห่งในกรุงเทพฯ ประสบปัญหาเหมือนกันโดยเฉพาะย่านประตูน้ำ เกิด Disruption อย่างมาก ผู้ค้าเดิมต้องปรับตัวเข้าสู่ E-commerce และพัฒนาสินค้ามากขึ้น
ส่วนการนำผู้ค้าเข้าสู่แพลตฟอร์ม เช่น Tiktok และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ นั้น ปัจจุบันพบว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า โดยเฉพาะการยิงแอดโฆษณา การเข้าสู่ตลาดออนไลน์ในวันนี้จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญคือตัวสินค้าต้องมีการพัฒนาให้หลากหลายตอบโจทย์การใช้งานในยุคปัจจุบัน ที่สำคัญราคา และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าก็มีส่วน เช่น ร้านผัดกะเพราร้านหนึ่ง ให้ความรู้เรื่องกะเพราว่ามีกี่ชนิด แต่ละชนิดเป็นอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง สร้างความสนใจให้ลูกค้า สามารถขายได้ถึงจานละ 120 บาท นี่คือตัวอย่างการพัฒนาสินค้าด้วยความรู้จริงและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า คือการปรับตัว เพื่อพัฒนาสินค้าในยุคนี้
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้ผู้ค้าในยุคนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก กทม.หน่วยงานเดียวไม่มีกำลังพอ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาช่วยด้านข้อมูล ด้านการตลาด เพราะมีต้นทุนสูง เพื่อให้ผู้ค้าสามารถอยู่ได้ในยุคนี้ ส่วน กทม.มีแผนจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจประจำย่านตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของไทย ซึ่งกำหนดให้เป็นเป้าหมายของทุกเขต ภายใต้คณะกรรมการการมีส่วนร่วมระดับเขตที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยผู้มีความรู้จากมหาวิทยาลัย และด้านต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจย่านและชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบัน ด้านเศรษฐกิจสำคัญมาก