วันที่ 7 ม.ค.2568 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจำคุกนอกเรือนจำ ที่กรมราชทัณฑ์เตรียมบังคับใช้ในเดือน ม.ค.นี้ ว่า ปัจจุบันคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ โดยหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว อธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องเอาผลไปพิจารณาให้ละเอียด เพราะอาจยังมีบางคนที่กังวลใจ ขณะนี้รับทราบว่ามีการประชุมกันอยู่ ส่วนใหญ่ตามหลักการก็เห็นด้วย เพียงแต่มีรายละเอียด เช่น ค่าสาธารณูปโภค ถ้าไปอยู่ในที่คุมขังที่เป็นสถานที่ราชการจะดำเนินการอย่างไร หรือค่ากล้องวงจรปิดที่ต้องรายงานตัว หรือการติดกำไลอีเอ็มที่ต้องไปผูกอยู่กับงบประมาณ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นไปตามระเบียบที่ระบุอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การปฎิบัติของกรมราชทัณฑ์  ทั้งนี้ ได้มีการจำแนกผู้ต้องราชทัณฑ์ พัฒนาพฤตินิสัย ให้เอาหลักวิชาการมาใช้มากที่สุด เราอยากให้ราชทัณฑ์เป็นสถานที่ฟื้นฟู ได้มีชีวิตใหม่ ออกมาอยู่ในสังคมได้อีกครั้ง

เมื่อถามถึงข้อกังวลอื่นๆ ในเรื่องการรับฟังความเห็น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ให้ทางคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องภายใน แต่มีประชาชนสนใจมาก และมองว่าจะออกมาเพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยว เราจะไม่เอาตัวคนใดอาคนหนึ่งมาตั้ง เพราะประเทศเรามีความแออัดมาก ทุกวันนี้ก็ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิอยู่แล้ว จากนี้เราจะมีที่คุมขัง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ หน่วยเอกชน ที่เป็นที่คุมขัง จะเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง ไม่มีว่าเอามาช่วยเหลือคนนั้นคนนี้เด็ดขาด ส่วนกรณีที่คุมขังเป็นบ้านพักส่วนตัว ก็มีระเบียบอยู่แล้ว และยิ่งจะถูกควบคุมมากด้วยซ้ำ และต้องดูว่าค่าใช้จ่ายในเรื่องการติดตั้งกล้องวงจรปิดของกรมราชทัณฑ์กับบ้านพักส่วนตัว ระบบจะเป็นอย่างไร และเราจะมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ไปดูแลด้วย

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สำหรับ 4 กลุ่มคนที่จะได้รับการพิจารณา เข้าเกณฑ์จำคุกนอกเรือนจำ ประกอบด้วย  1.กลุ่มที่ได้รับการจำแนก 2.กลุ่มที่ต้องได้รับการพิจารณาพฤตินิสัย 3.กลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย 4.กลุ่มผู้ต้องขังเจ็บป่วย โดย 4 กลุ่มนี้ จะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตั้งแต่ระดับเรือนจำ ระดับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตนให้นโยบายไปว่าไม่อยากให้ใช้ดุลพินิจมาก ให้ใช้หลักเกณฑ์ เพราะถือเป็นกติการ่วมกัน อีกทั้งยังได้จากการรับฟังความเห็นที่ทุกคนเห็นด้วยในหลักการทั้งหมด และข้อเสนอแนะบางอย่างจะนำเข้าไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณารัฐมนตรี แต่ในฐานะของคณะกรรมการกรมราชทัณฑ์ที่มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ซึ่งมีตนเป็นประธาน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ เราก็ต้องดูให้มีการบริหารเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายราชทัณฑ์ ซึ่งเราคำนึงถึงให้เกิดความสมดุล

เมื่อถามถึงกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หากเดินทางกลับไทยจะเข้าเกณฑ์ 4 กลุ่มนี้ หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ได้เข้าเกณฑ์ เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์มีโทษเกิน 5 ปี โดยผู้ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีโทษไม่เกิน 4 ปี

เมื่อถามว่า มีการคาดการณ์ว่าหากมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ก็จะเข้าเกณฑ์ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่อยากให้พูดถึงประเด็นนั้น แต่ย้ำว่าหากเกิน 4 ปีไม่ได้อยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่า แต่ถ้าโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เข้าเกณฑ์ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานกรมราชทัณฑ์

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้กระทรวงยุติธรรมได้งบประมาณก่อสร้าง ปีละ1 เรือนจำ แต่เรือนจำแต่ละที่มีอายุเฉลี่ย 90 ปี ซึ่งมีถึง 50 เรือนจำ และมีสภาพทรุดโทรม ซึ่งหลายประเทศใช้วิธีการคุมประพฤติ และเราพบว่า ในประเทศไทยใช้วิธีคุมประพฤติแล้ว มีการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าผู้ต้องขังที่อยู่หลังกำแพง เพราะได้อยู่กับชุมชน และมีมาตรการควบคุมที่หลากหลาย

เมื่อถามว่า สามารถควบคุมนอกเรือนจำได้เมื่อไหร่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ระเบียบนี้หลังมีขึ้นแล้ว ภายใน 90 วันต้องปฏิบัติตาม  เพียงแต่ไม่มีการปฏิบัติตาม และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ระบุว่า รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งตนมองว่าคนที่ไม่ออกระเบียบในขณะนั้น อาจจะเป็นประเด็นความกังวลอะไรก็ตาม ถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่มีภาวะผู้นำ การตัดสินใจปฏิบัติตามกฏหมายช้า จะทำให้เรื่องคาราคาซัง และเมื่อเราจะไปประกาศยกระดับนิติธรรมให้เป็นสากล เมื่อมีการวัดและประเมินผล กรมราชทัณฑ์ ได้ผลประเมินต่ำสุดคือ 0.25 จากคะแนนเต็ม 1

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจำคุกนอกเรือนจำ มีผู้ที่โดนคดี มาตรา 112 อยู่ในการพิจารณาด้วยกังวลหรือไม่ว่าจะถูกโจมตีทางการเมือง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรื่องความเป็นธรรม เราอย่าไปกลัวจะโดนโจมตี หากเรากล้าหาญที่จะให้ความเป็นธรรมและไม่อคติ