เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ปาฐกถาพิเศษ  “ร่วมออกแบบอนาคตเด็กไทยไปกับ พม.” พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายสื่อเด็กและเยาวชน และสภาเด็กและเยาวชน ในงาน “พม. ชวน สื่อ ร่วมออกแบบอนาคตเด็กไทย” (Drawing Youth’s Future Together) โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน รายงานถึงวัตถุประสงค์ “การนำเสนอข่าวเด็กอย่างไร ไม่ละเมิดสิทธิ และคุ้มครองเด็ก”

นายวราวุธ กล่าวว่า การทำงานในเรื่องของมิติสื่อออนไลน์ เป็นมิติที่กระทรวง พม. ต้องทำงานร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงาน วันนี้สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือต้องเร่งให้ความรู้และสร้างความตระหนัก ไม่ใช่ให้กับเฉพาะแค่เยาวชนเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน เพราะว่าการเสพสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ หรือออฟไลน์นั้น คนที่มีอิทธิพลคือผู้ใหญ่ วันนี้การให้ความรู้กับผู้ใหญ่ว่า การเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนด้วยแท็บเล็ท สมาร์ทโฟน ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้คอนเทนต์ บนออนไลน์นั้นมีมากมาย ทั้งบวกและลบ ซึ่งผู้ใหญ่บางท่านนั้นจะไม่ทราบเลยว่าลูกหลานกำลังเสพคอนเทนต์แบบไหน ดังนั้น วันนี้ นอกจากเราจะให้ความรู้กับเด็กแล้ว ความรู้ของผู้ใหญ่ต้องก้าวให้ทัน เนื่องจากคนในวัยสูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในโลกของดิจิทัล ในขณะที่เด็กวัยรุ่นหรือเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมของดิจิทัล ดังนั้น การให้ความรู้กับผู้ใหญ่ที่จะเลี้ยงดูเด็กนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีสื่อเข้ามาทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาในทางที่ไม่ถูกต้อง และเราได้รับเกียรติจากสื่อมวลชน ที่มีการสร้างคอนเทนต์ต่างๆ เพื่อที่จะนำเสนอ เพราะหลายครั้งเราจะเห็นแนวทางที่ว่า ข่าวร้ายดูฟรี ข่าวดีเสียตังค์ คือเวลาลงเรื่องดี ๆ คนมักจะไม่ค่อยสนใจ  เพราะว่าบางครั้งสื่อแต่ละสื่อ มีเป้าหมายคือยอดผู้ชม ยอดติดตาม จำนวนมาก ถ้าคนไม่ติดตาม ทำให้ต้องหาเรื่องที่น่าสนใจ บางครั้ง การนำเสนออุบัติเหตุ ความเศร้าโศกเสียใจ การเสียชีวิต ซึ่งค่อนข้างที่จะเห็นแก่ตัว เป็นการหาประโยชน์จากคนอื่น จนละเลยสิทธิส่วนบุคคล 

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับดิจิทัลครีเอเตอร์ หรืออินฟูเอนเซอร์ทั้งหลาย ที่เรียกว่าเป็นฟรีแลนซ์ หรือเป็นครีเอเตอร์อิสระ บางครั้งอาจจะละเลย หรือว่าไม่คิดถึงผลที่จะตามมา จากการนำคอนเทนต์ ต่างๆ ดังนั้นพี่น้องประชาชนจะเป็นหูเป็นตาให้กับกระทรวง พม. ได้อย่างดี เช่น ถ้าท่านพบเห็นคนที่กำลังทำคอนเทนต์ที่ไม่ถูกต้อง หรือรู้จักกับคนที่เป็นเหยื่อของการทำคอนเทนต์ที่ไม่ถูกต้องนั้น ให้โทรแจ้ง 1300 สายด่วน พม. ของ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกคนฝันอยากจะเห็นเด็กไทยเติบโตขึ้นมาแล้วเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม เด็กๆ ไม่ใช่ภาระ แต่เด็กๆ จะต้องเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะนำพาสังคมไทยไปข้างหน้า เติบโตขึ้นมามีความเข้มแข็ง ทั้งกายและใจ มีทั้งไอคิว อีคิว ความคิดสร้างสรรค์ ในทางที่ถูกต้อง และไม่ทำตัวให้เป็นภาระของสังคม ในขณะที่ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเยาวชนไทยที่อายุต่ำกว่า 20 ปี นั้น ใช้เวลาไปกับหน้าจอวันละเกือบ 12 ชั่วโมง ทำให้เวลาส่วนตัวหายไปหมดสิ้น ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในวันนี้คือต้องขอแรงจากผู้ใหญ่ที่จะมาดูแลลูกหลาน หากเราให้แท็บเล็ท และโทรศัพท์มือถือแก่เด็กๆ เพื่อให้เงียบ โดยการเงียบของเด็กๆ ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดี ว่าเด็ก ๆ เป็นคนว่านอนสอนง่าย แต่เด็กๆ กำลังซึมซับ คอนเทนต์อะไรก็ได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่จำเป็นที่จะต้องมีทักษะทางดิจิทัลต้องตามเด็กให้ทัน เพราะผู้ใหญ่คือกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ในขณะที่เด็กมีความรู้เรื่องดิจิทัลมากมาย ทำให้ผู้ใหญ่ต้องตามเด็กให้ทัน

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้ทำงานร่วมกับหลายองค์กร ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งการทำให้อินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นั้น เป็นสื่อที่ปลอดภัย มีคอนเทนต์ที่ปลอดภัย โดยมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกำกับดูแลคอนเทนต์และ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ คนในสังคมปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีต่อเด็กเล็กมากมาย ดังนั้นการจำกัดการเข้าถึงหรือการกำหนดเวลาให้เด็กได้ดูหน้าจอ เช่นเดียวกับมาตรการของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 20 ของประเทศไทย ใช้เวลาอยู่หน้าจอเกือบ 12 ชั่วโมง หากจะลดเวลาลงหลือ 6 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กๆ ได้หาความรู้ใส่ตัว พัฒนาศักยภาพ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา และอีกมากมาย นับเป็นนโยบายที่ดี ซึ่ง เราทุกฝ่ายจะต้องหาแนวทางประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด