เริ่มเพรียกหาการยอมรับจากต่างประเทศแล้ว
สำหรับ รัฐบาลรักษาการของซีเรีย ซึ่งสถาปนาโดยกลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” หรือ “เอชทีเอส” ภายหลังจากที่กลุ่มกบฏกลุ่มนี้ อันเป็นหนึ่งในกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลกรุงดามัสกัส โค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ล่มสลาย ล้มระเนระนาด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2024 (พ.ศ. 2567) ที่เพิ่งผ่านพ้นมา จนตัวประธานาธิบดีอัสซาด และครอบครัว ต้องระเห็จหลบลี้หนีภัยเผ่นไปยังกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย ที่มีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้นำ และเป็นพันธมิตรสำคัญของนายอัสซาด ผู้กลายเป็นอดีตประธานาธิบดีซีเรียไปเป็นที่เรียบร้อย
โดยกลุ่มกบฏ “ฮายัต ตาห์รีร์ อัล-ชาม” หรือ “เอชทีเอส” ซึ่งมี “นายอาบู โมฮัมหมัด อัล-จูลานี” เป็นผู้นำ หรือหัวหน้ากลุ่มกบฏ ที่แม้ว่าเขามีสถานะเป็นผู้ก่อการร้าย ถึงขนาดที่ถูกทางการสหรัฐฯ โดยกระทรวงการต่างประเทศ เคยออกแถลงการณ์ประกาศตั้งค่าหัว เป็นรางวัลนำจับ หรือชี้เบาะแส ด้วยมูลค่าสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยในช่วงเวลานี้ ก็ราวกว่า 34.5 ล้านบาท) ได้สถาปนารัฐบาลรักษาการ ขึ้นมาบริหารปกครองซีเรีย เป็นการชั่วคราว แทนรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด ที่ถูกโค่นล้มไป
ภายใต้ชื่อรัฐบาลรักษาการว่า “ รัฐบาลกู้ชาติซีเรีย” โดยมี “นายอาเหม็ด อัล-ชารา” หนึ่งในแกนนำของกลุ่มกบฏ เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการ และจะมีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ ของรัฐบาลรักษาการซีเรีย ในยุคที่กบฏครองเมืองอย่างที่เป็นอยู่นี้
นอกจากนี้ ก็ยังมี “นายโมฮัมหมัด อัล-บาชีร์” ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล”
โดยนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล “อัล-บาชีร์” ผู้นี้ ซึ่งเป็นวิศวกร นอกจากบริหารซีเรียที่กำลังภินท์พังจากสงครามกลางเมืองและสงครามการก่อการร้าย ให้เดินหน้าต่อไปแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ดำเนินการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลชุดเก่าสมัยประธานาธิบดีอัสซาด ให้เป็นไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ ตามกำหนดการที่วางไว้ นายอัล-บาชีร์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล ไปจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2025 (พ.ศ. 2568) ที่จะถึงนี้
ใช่แต่เท่านั้น ทางรัฐบาลรักษาการซีเรีย ก็ได้แต่งตั้งนายอาซาอัด ฮัสซัน อัล-ไชบานี มาดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเฉพาะกาล” ของซีเรีย ซึ่งนายอัล-ไชบานี จะทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรี เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐบาลรักษาการซีเรีย ที่มีกลุ่มกบฏเอชทีเอสเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง กับบรรดาประเทศทั้งหลาย
เมื่อซีเรียยุคกบฏครองเมือง ที่แม้จะยังสุ่มเสี่ยงล้มลุกคลุกคลาน เนื่องจากสถานการณ์กลุ่มกบฏอื่นๆ และกองกำลังติดอาวุธต่างๆ รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายที่ยังคงเคลื่อนไหวกันอยู่ ตลอดจนถูกประเทศเพื่อนบ้านรุกล้ำเข้ามากินแดน แต่ทว่า รัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของกลุ่มกบฏเอชทีเอส ก็ได้พยายามสร้างความเชื่อมั่น เป็นที่ไว้ใจของนานาประเทศ ทั้งในและนอกภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชาติมหาอำนาจตะวันตก ที่ทางรัฐบาลรักษาการซีเรีย หวังได้ประโยชน์เป็นประการต่างๆ
เริ่มจากการเปิดประเทศให้การต้อนรับการเดินทางมาเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติมหาอำนาจตะวันตกถึง 2 คนในห้วงเวลาเดียวกัน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เรียกได้ว่าเป็นการ “เปิดศักราชใหม่” พร้อมๆ กับ “เปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” กับเหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตก แบบเป็นประเดิมกันเลยทีเดียวก็ว่าได้
นั่นคือ การเดินทางมาเยือนกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย โดย “นางอันนาเลนา แบร์บ็อค” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี” และ “นายฌ็อง-โนเอล บาร์โรต์” ผู้มีตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส” เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือเพิ่งผ่านปีใหม่ได้เพียง 2 – 3 วัน
โดยรัฐบาลรักษาการซีเรีย เปิดที่ทำการรัฐบาลในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของประเทศ ให้การต้อนรับการเดินทางมาเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสอง โดยทางนายอาเหม็ด อัล-ชารา ผู้นำรัฐบาลรักษาการ เป็นตัวแทนคณะรัฐบาลรักษาการซีเรีย ในการพบปะกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองคนจากชาติมหาอำนาจตะวันตก ท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาหารือเป็นไปอย่างชื่นมื่น
ทั้งนี้ เนื้อหาสาระสำคัญของการหารือ ก็มีรายงานว่า รัฐมนตรีฯแบร์บ็อคของเยอรมนี ได้พูดถึงการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาบริหารประเทศ รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งต่อประชาชนและชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในซีเรีย ซึ่งจะเป็นการปูทางที่จะนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ทางเศรษฐกิจ ที่สหภาพยุโรป หรืออียู ในการนำของเยอรมนี และฝรั่งเศส บังคับใช้มาตั้งแต่สมัยที่ประธานธิบดีอัสซาดครองเมืองอย่างเผด็จการเพื่อเป็นการตอบโต้ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง
ประเด็นข้างต้น ก็ต้องถือว่า สมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย จากการสหภาพยุโรป หรืออียู ส่งสัญญาณว่าต้องการมีความสัมพันธ์อันดีกับซีเรีย แม้ว่าอยู่ในยุคกลุ่มกบฏครองเมืองก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางมิให้เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นจังหวะอันดีที่จะขจัดอิทธิพลของรัสเซียออกไปจากซีเรียอย่างพร้อมสรรพ ขณะที่ ซีเรีย ก็ต้องการให้ทางอียู ยกเลิกบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันซีเรีย
นอกจากเหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตกแล้ว ทางรัฐบาลรักษาการของซีเรีย ก็ยังมีแผนการที่จะสร้างความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีกำหนดการที่จะส่งนายอัสซาอัด ฮัสซัน อัล-ไชบานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปยังหลายๆ ประเทศระหว่างนี้ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และจอร์แดน หลังจากที่ได้เดินทางไปยังซาอุดีอาระเบีย เมื่อช่วงก่อนหน้า
และในวันอังคารที่ 7 มกราคมนี้ ทางรัฐบาลรักษาการซีเรีย ก็จะถือเป็นวันเริ่มต้นรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่จะเดินทางมายังท่าอากาศยานนานาชาติดามัสกัส แบบเปิดฟ้า เปิดศักราชใหม่ หลังจากที่ปิดทำการท่าอากาศยานนี้ไปตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา