วันที่ 6 ม.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบน้ำแข็งแห้งจากบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในภารกิจบรรเทาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการบินทดสอบของกรมฝนหลวงช่วงที่ผ่านมา ช่วยเปิดช่องชั้นบรรยากาศเพื่อระบายฝุ่นได้มากขึ้น ปัจจุบันจึงมีการร่วมมือกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อจัดเตรียมเส้นทางและความพร้อมในการบินบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อสร้างกระบวนการเปิดช่องชั้นบรรยากาศระบายฝุ่นเพิ่มเติม ถือเป็นความร่วมมือหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันนำเทคโนโลยีและความรู้มาใช้แก้ปัญหา

 

อย่างไรก็ตาม หากพิสูจน์แล้วว่าวิธีนี้ได้ผลจริง อาจจะต้องลงทุนในระยะยาวต่อไป เช่น ทำโรงงานผลิตน้ำแข็งแห้งและจัดซื้อเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากความเสียหายจากฝุ่นมีมูลค่าหลายหมื่นล้านหากเทียบกับสุขภาพคน

 

นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีด้านปฏิบัติการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า เรามีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในการตรวจพบฝุ่น แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถบินเข้ากรุงเทพฯ ได้ แต่ปัจจุบันได้รับอนุญาตแล้ว เมื่อตรวจเจอฝุ่นจะทำการบินเพื่อเปิดช่องชั้นบรรยากาศระบายฝุ่น จากการทดลองช่วงเช้ามีฝุ่นจำนวนมาก แต่หลังจากบินเปิดช่องชั้นบรรยากาศ ช่วง 11.00-12.00 น. ฝุ่นเริ่มลดลง หรือช่วงบ่ายโมงพบฝุ่นมาก แต่หลังจากขึ้นบินเปิดช่องชั้นบรรยากาศ ช่วง 14.00-15.00 น. พบว่าฝุ่นน้อยลง โดยองค์ประกอบสำคัญในภารกิจเปิดช่องชั้นบรรยากาศนี้คือ น้ำแข็งแห้ง ซึ่งเป็นสารฝนหลวงสูตร 3 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ กรมฝนหลวงฯ จึงนำมาต่อยอดในการลดฝุ่น โดยใช้วิธีก่อเมฆเพื่อรองรับฝุ่น เพราะฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็ก การทำฝนหลวงไม่เกิดประโยชน์

 

สำหรับการทำงานของน้ำแข็งแห้งคือ น้ำแข็งแห้งมีอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส สามารถเจาะชั้นบรรยากาศให้ฝุ่นสามารถระบายออกไปได้ เนื่องจากสภาพปกติชั้นบรรยากาศจะมีฟิล์มความร้อนเคลือบไว้ ทำให้ฝุ่นระบายออกไปไม่ได้ ดังนั้น ความเย็นจัดของน้ำแข็งแห้ง จะทำให้ชั้นฟิล์มความร้อนเย็นขึ้น สามารถเจาะระบายฝุ่นได้ โดยเฉลี่ยใช้น้ำแข็งแห้งวันละ 10 ตัน

 

นายเถลิงศักดิ์ ผาทอง ผู้อำนวยการใหญ่ (บริการการเดินอากาศส่วนภูมิภาค) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เป็นปีแรกที่วิทยุการบินเปิดให้กรมฝนหลวงฯ เข้ามาบินเพื่อเจาะช่องชั้นระบายอากาศ โดยกรมฝนหลวงฯ ขออนุญาตบินตั้งแต่ความสูง 3,000-4,000 ฟุต ซึ่งบางพื้นที่ไม่สามารถอนุญาตได้ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นลงของเครื่องบินท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ วิทยุการบินกำหนดกรอบรัศมีและช่วงการบินในระยะ 20x20 กิโลเมตร เพื่อไม่กระทบการเดินทางของเครื่องบินท่าอากาศยาน โดยกรมฝนหลวงจะบินทุกวัน ช่วงเช้าเวลาประมาณ 10.00 น. ช่วงบ่ายเวลาประมาณ 14.30 น. แต่ละพื้นที่ใช้เวลาบิน 20-30 นาที ในส่วนพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ต้องมีการประสานงานล่วงหน้า เพื่อเปลี่ยนเส้นทางบินของเครื่องบินท่าอากาศยานชั่วคราว กรมฝนหลวงฯ จึงจะสามารถขึ้นบินได้ในระยะสูงไม่เกิน 3,000 ฟุต ใช้เวลา 20-30 นาที จากนั้นเครื่องบินท่าอากาศยานจึงจะกลับมาบินในเส้นทางปกติตามเดิม

 

สำหรับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ดำเนินธุรกิจโดยการนำก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการผลิตน้ำแข็งแห้ง มีการทดลองใช้เจาะชั้นบรรยากาศมาแล้ว 4-5 ปี ปัจจุบันได้ร่วมกับ กทม.และกรมฝนหลวงฯ ในการเจาะชั้นบรรยากาศในกรุงเทพมหานครเพื่อระบายฝุ่น และมอบน้ำแข็งแห้งในวันนี้จำนวน 300 ตัน สามารถใช้บินเจาะชั้นบรรยากาศได้ 30 วัน เฉลี่ยใช้วันละ 10 ตัน