นายโอภาส อาลมิสรี รองโฆษกพรรคเสรีรวมไทย และหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย (กมธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาหาแนวทางในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน โดยระบุว่า กมธ. รับทราบดีว่าประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะแม้จะมีการห้ามนำเข้า-ห้ามขายอยู่ในปัจจุบัน แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนที่เพิ่มขึ้นได้ โดย กมธ. มีข้อเสนอ 3 แนวทางหลักที่จะเสนอให้กับสภาฯ ก่อนจะส่งให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อ ว่า  

“การทำงานของ กมธ. ชุดนี้มีความท้าทายมาก เนื่องจากเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แถมยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันระหว่างข้อมูลในประเทศ และข้อมูลของต่างประเทศ มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากทั้งผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ผู้ไม่สูบบุหรี่ เด็กและเยาวชน ตลอดจนหลายหน่วยงานของรัฐ และยังเป็นประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจ ทาง กมธ. ได้ศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนในทุกมิติ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย จึงทำให้ใช้เวลาในการทำงานและศึกษากว่าปีเศษๆ ประชุมกันจนถึง 26 ธันวาคมที่ผ่านมา รวมทั้งหมดก็ 39 ครั้ง”

“ข้อเสนอทั้งสามแนวทางของ กมธ. เราได้ระบุข้อดี ข้อเสีย อย่างครบถ้วน สามารถนำไปศึกษาและพัฒนาต่อเป็นกฎหมายเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่และการใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ โดยสามารถนำ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมาใช้ได้ทันทีเพื่อควบคุมได้ชัดเจน เข้มงวดมากยิ่งขึ้น พร้อมบทลงโทษที่ชัดเจน หากใช้เวลานานกว่านี้ก็จะเสียโอกาสในการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนซื้อหรือใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้โดยง่าย”

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติขยายเวลาการทำงานให้ กมธ. ออกไปอีกเพียง 30 วัน จนถึง 19 มกราคม 2568 เนื่องจากมีการอภิปรายว่าการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข ซึ่ง กมธ. ต้องดูรายละเอียดของรายงานให้รอบคอบ รัดกุม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง

นายโอภาสยังได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ปัจจุบันของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยระบุว่า “ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทยใช้บุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 8 หมื่นคน ซึ่งมันย้อนแย้งกับสิ่งที่เป็นอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันมาก ๆ การให้ข้อมูลผิด ๆ หรือไม่อัพเดทเหล่านี้ ก็จะเป็นโทษมากกว่า เพราะจะทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจทำอะไรให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น เท่าที่ผมสำรวจดูด้วยตนเองและมีทีมงานไปสำรวจตามสถานที่ที่จัดให้เป็นที่สูบบุหรี่ต่างๆ แล้วลองนับจำนวนผู้สูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าดู พบมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเกือบครึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่มวน ยังไม่รวมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าบางกลุ่มที่คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะมาใช้พื้นที่รวมกับผู้สูบบุหรี่ เพราะไม่อยากได้รับควันบุหรี่อีก ประเทศเรามีผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด 10 กว่าล้านคน ดังนั้น ผมคิดว่าผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีเกิน 2 ล้านคนแน่ ๆ”

นายโอภาสยังได้ตั้งคำถามต่อว่า “ทำไมคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึงได้มากกมายขนาดนี้ ทั้งที่ประเทศไทยห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ แสดงว่ากฎหมายแบนในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมหรือเปล่า ปล่อยให้ขายกันใต้ดิน มีการเรียกรับผลประโยชน์กันได้หรือไม่?”

“ตอนนี้มี 80 กว่าประเทศทั่วโลกที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วบางประเทศกฏหมายรุนแรงด้วยหากพบว่ามีการขายบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กและเยาวชน ซึ่งสามารถเอาผิดผู้ขายได้จริง สำหรับประเทศไทย ถ้าเอาบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาควบคุมก็ไม่ได้แปลว่าจะขายยังไงก็ได้ มันก็ต้องมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้มันดึงดูดเด็กและเยาวชนน้อยที่สุด เช่น ห้ามกลิ่นผลไม้ หรือรสหวาน สีสันของอุปกรณ์ วิธีการจำหน่าย อาจจะต้องใช้ใบสั่งแพทย์หรือเสียบบัตรยืนยันตนตอนซื้อ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม นายโอภาสยังกล่าวถึงความพยายามของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ที่ยังคงรณรงค์คัดค้านรายงานฉบับนี้ “ควรให้ความเคารพต่อกระบวนการทำงานของ กมธ. ให้มันเป็นไปตามกลไกของสภาและระบอบประชาธิปไตยที่จะเดินหน้าเพื่อหาข้อสรุปที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง เพราะทุกฝ่ายต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือการปกป้องเยาวชน และจัดการปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมในระยะยาว”