กรุงเทพมหานครเปิดเผยข้อมูล เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2567 โครงการ BKK food bank หรือ ธนาคารอาหาร มีผู้ส่งต่ออาหารให้ผู้ที่ต้องการแล้ว 151,511 คน คิดเป็น 3,468,848 มื้อ ลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 2,089,567 kgCO e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 139,304 ต้น ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มนำร่องครบ 4 เขต เมื่อวันที่ 8 มี.ค.67 และขยายครบทั้ง 50 เขต เมื่อวันที่ 9 ก.ย.67 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของ กทม. เนื่องจากมีการวางแผนเดินหน้าในปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนตั้งเป้าไปถึงปี 2568 ผ่านความร่วมมือจากภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ในรูปแบบที่เน้นการใช้เทคโนโลยี การให้เกียรติทั้งผู้รับและผู้ให้ ภายใต้นิยาม 'เมืองแห่งการแบ่งปัน'

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เมืองแห่งการแบ่งปัน คือความฝันหรือเป้าหมายสูงสุดของ กทม. ภายใต้โครงการดังกล่าว นอกจากมีการส่งต่อสิ่งเหลือใช้และสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบางและผู้ที่ต้องการแล้ว กทม.มุ่งหวังให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างในการขยายผลต่อไป ในส่วนของ กทม.อยู่ระหว่างขยายผลสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมมากที่สุด แสวงหาช่องการแบ่งปันหรือการบริจาคให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ช่องทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ จากการร่วมมือกับ Tiktok ไทยแลนด์ เมื่อปี 2566 เพื่อส่งเสริมผู้ค้าตลาดโบ๊เบ๊เข้าถึงการขายออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.67 กทม.ได้ร่วมกับ Tiktok เพื่อขยาย โครงการ BKK food bank สู่การรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้างและสะดวกมากขึ้น จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปีที่ผ่านมา สามารถเข้าถึงกลุ่มเปราะบางไปแล้วกว่า 20,000 คน ในปี 2568 กทม.ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 50,000 คน การร่วมมือกับ Tiktok และแพลตฟอร์มต่าง ๆ เชื่อว่าจะขยาย โครงการ BKK food bank ได้มากขึ้น

“ในปีหน้าเราตั้งเป้าขยายโครงการมากขึ้น ให้ทุกคนที่สนใจสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น การเปิดรับบริจาคของเล่น ของมือสองสภาพดี ซึ่งของเล่นที่บางคนไม่ได้ใช้แล้ว อาจเป็นประโยชน์ต่อเด็กที่ต้องการได้ เป็นมิติการส่งต่อที่หลากหลายเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้าง เนื่องจาก กทม.ไม่เปิดรับบริจาคเงิน เพราะเป็นเรื่องยากในการควบคุมและการเบิกใช้ จึงต้องการสิ่งของมากกว่า เช่น อาหารสดที่บริโภคได้แต่ขายไม่ได้แล้ว และอาหารที่ยังเก็บไว้ได้ เพื่อส่งถึงผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ปัจจุบันมีการบริจาคในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น เช่น มอบเป็นสิทธิพิเศษ เป็น Gift Voucher หรือการเก็บแต้มสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งหลายภาคส่วนช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องบริจาคสิ่งของก็ได้ สิ่งสำคัญคือ ทำแล้วต้องยั่งยืน”

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการร่วมมือกับ Tiktok ว่า กทม.ร่วมมือกับ Tiktok หลายโครงการแล้ว เช่น ไม่เทรวม ล่าสุดมีการออกแฮชแท็ก #BKK food bank และ ฟีเจอร์ Donation sticker ในแอปพลิเคชั่น Tiktok โดยแฮชแท็ก BKK food bank ทำหน้าที่ในการค้นหา การสร้างคอนเทนต์ และสร้างการรับรู้โครงการดังกล่าว เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถติด sticker ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการร่วมบริจาคอีกทางหนึ่ง ส่วนรายได้จาก sticker ระบบจะมีการนำไปซื้อของใช้ต่าง ๆ เพื่อนำไปบริจาคในโครงการ BKK food bank ต่อไป ซึ่งการร่วมมือกันครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถขยายโครงการได้มากขึ้น ตามหลักการคือ เชื่อว่ามีของที่เหลือใช้และอาหารต่าง ๆ จำนวนมากในกรุงเทพมหานคร แต่อาจจะยังไม่มีตัวกลางในการส่งต่อ กทม.จึงทำโครงการนี้เพื่อส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการ สร้างเมืองแห่งการแบ่งปันต่อไป ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงานโครงการดังกล่าวแล้ว เช่น เมืองต่าง ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น

นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการขยายโครงการ BKK Food Bank ในปี 2568 ว่า ปัจจุบันมีรายชื่อกลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียนรับของบริจาคประมาณ 23,000 คน ปี 2568 ตั้งเป้าเป็น 50,000 คน โดยเชื่อมกับ 'โครงการวัดคู่เมือง' ซึ่งเป็นความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ระหว่าง กทม.กับวัดในกรุงเทพฯ กว่า 400 วัด เช่น ด้านการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ด้านการเดินทาง ด้านการแก้ปัญหาชุมชน ด้านการส่งเสริมประเพณีและเศรษฐกิจชุมชน ด้านช่วยเหลือผู้ยากไร้ และการคัดแยกขยะ เป็นต้น โดยนำโครงการ BKK food bank ไปเป็นส่วนหนึ่งของวัด ในรูปแบบเดียวกันกับ 50 เขต ที่มีอยู่ แต่จะขยายการเปิดรับบริจาคในมิติที่หลากหลายขึ้น เช่น เสื้อผ้า และสิ่งของชิ้นใหญ่อื่น ๆ และของมือสอง เป็นต้น ซึ่งวัดสามารถเป็นศูนย์กลางการส่งต่อได้ และสามารถขยายการส่งต่อถึงผู้รับในวงกว้างขึ้น เพิ่มเติมจากการทำประชาสัมพันธ์ในแพลตฟอร์ม Tiktok สร้างชุมชนการส่งต่อช่วยเหลือผู้อื่นได้หลากหลาย รองรับผู้ต้องการส่งต่อในหลายรูปแบบ เช่น การให้สิทธิในการเข้าถึงบริการ หรือสินค้าต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของผู้ให้ รวมถึงการนำขยะชิ้นใหญ่มาปรับปรุงเพื่อสร้างประโยชน์ต่อไป

“ปัจจุบันเป้าหมายของโครงการ BKK food bank เลยขอบเขตการรับบริจาคอาหารไปแล้ว เป็นโครงการที่ กทม.มีแผนขยายผลต่อเนื่อง มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น มูลนิธิกระจกเงา ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ มีหน่วยงานดูแลคัดกรองของบริจาคและดำเนินโครงการทั้ง 50 เขต กว่า 10,000 คน ตั้งใจให้เกิดความยั่งยืน จะเห็นผลมากขึ้นในปีหน้า ทั้งโครงการวัดคู่เมืองและโครงการ BKK food bank ซึ่งดำเนินการคู่กัน”

นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กล่าวแนวทางการรับบริการโครงการ BKK food bank ในสำนักงานเขต ว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการส่งต่อเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางด้านต่าง ๆ โดยมีขั้นตอนในการรับบริการเริ่มจาก เข้ามาที่สำนักงานเขตแล้วลงทะเทียน ซึ่งสำนักงานเขตต่าง ๆ จะมีข้อมูลกลุ่มเปราะบางซึ่งผ่านการคัดกรองมาแล้ว เมื่อลงทะเบียนแล้วเสร็จจะได้รับพาสปอร์ตหรือสมุดคู่มือบันทึกการเข้ารับบริการตามวันเวลาต่าง ๆ จากนั้นนำพาสปอร์ตไปเลือกของกินของใช้ที่ต้องการตามความเหมาะสมในจุดที่เตรียมไว้ เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกข้อมูลการเข้ารับบริการและสิทธิต่าง ๆ ไว้ สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการหรือผู้ป่วยติดเตียง กรณีผู้ป่วยติดเตียงจะมีบริการส่งถึงบ้าน รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็สามารถเข้ารับบริการได้ นอกจากนี้มูลนิธิ ห้างร้าน และผู้ที่ต้องการส่งต่อสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค สามารถติดต่อสำนักงานเขตได้ตามช่องทางต่าง ๆ หรือสามารถติดต่อไปยังศาลาว่าการ กทม.ก็ได้