กลายเป็นตำนานไปซะแล้ว! สำหรับ "รถเมล์ฟ้าบางบอน" โดยก่ อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก "Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์" ได้โพสต์รูปพร้อมข้อความ ระบุว่า "บริษัท พรดำรงขนส่ง" ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารหมวด 4 ย่านบางแค-บางบอน ได้มีการติดประกาศข้างรถเมล์สายบางแค-ซอยหนองใหญ่ ว่า จะทำการเปลี่ยนประเภทรถที่ให้บริการ จากรถเมล์เป็นรถสองแถว ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ต่อมา ได้มีการติดประกาศเพิ่มเติม ที่ข้างรถเมล์ทุกสายของบริษัท เช่นสายบางแค-บางบอน / สายบางแค-ซอยยิ้มประยูร ว่า จะทำการเปลี่ยนเป็นรถสองแถว ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2568 เช่นกัน หลังจากที่ให้บริการยาวนานมาหลายปี ส่วนสายบางแค-กำนันแม้น-วัดสิงห์ ได้เริ่มเปลี่ยนเป็นสองแถวไปแล้วก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
ในส่วนของเส้นทางเดินรถ จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้เข้าท่ารถเมล์เดิม (ซอยโรงหนังเก่า) แต่จะวิ่งออกถนนเพชรเกษม ผ่านโลตัสบางแค และมาจอดรอที่ป้ายตลาดบางแค ฝั่งห้างวันเดอร์
สำหรับ เวลาเดินรถ มีดังนี้
สายบางแค-บางบอน 05.00-21.30 น.
(คันสุดท้ายจากตลาดบางบอน 21.00 น.)
สายบางแค-ซอยหนองใหญ่ 05.00-20.30 น.
(คันสุดท้ายจากปากซอย สนง.เขตบางแค 20.00 น.)
สายบางแค-ซอยยิ้มประยูร 05.00-19.30 น.
(คันสุดท้ายจาก รร.ฐานปัญญา 19.00 น.)
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก "Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์" ได้โพสต์รูปพร้อมข้อความ ระบุว่า ปิดตำนาน "รถเมล์ฟ้าบางบอน" กลายเป็นรถสองแถวอย่างเต็มตัว
วันที่ (4 มกราคม 2568) เป็นวันแรกที่บริษัท พรดำรงขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารท้องถิ่นหมวด 4 ย่านบางแค-บางบอน ได้ยุติการเดินรถเมล์ร้อนสีฟ้าเดิมทั้งหมด และเปลี่ยนรถมาใช้สองแถวสีฟ้าคันใหม่แทนอย่างเต็มระบบ ในทุกสายของบริษัท อาทิ
สาย 1017 บางแค - บางบอน
สาย 1402 บางแค - วัดสิงห์ - บิ๊กซีบางบอน (เป็นสายแรกที่บริษัทเปลี่ยนเป็นรถสองแถว ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา)
สาย 1467 บางแค - ซอยหนองใหญ่ - สนง.เขตบางแค
สาย 1467 บางแค - ซอยยิ้มประยูร
ในส่วนของเส้นทางเดินรถ จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้เข้าท่ารถเมล์เดิม (ซอยโรงหนังเก่า)
แต่จะวิ่งออกถนนเพชรเกษม ผ่านโลตัสบางแค และมาจอดรอที่ป้ายตลาดบางแค ฝั่งห้างวันเดอร์
ทั้งนี้ผู้โดยสารโปรดสังเกตป้ายเส้นทางก่อนขึ้นรถ
โดยรถสายบางบอน กับรถสายวัดสิงห์ จะแยกรถกันตามข้อความบนหลังคารถ
ส่วนสายหนองใหญ่ และยิ้มประยูร จะนำรถสายบางบอนมาแปะป้ายวิ่งอีกทีนึง
(ไม่ต้องไปสนใจเลขสายด้านข้างรถ เพราะบางคันจะติดเลขสายไม่ตรงกับเส้นทางที่รถวิ่ง เป็นมาตั้งแต่สมัยรถเมล์แล้ว 55+)
ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจเฟซบุ๊ป : Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ , Photo by Th_jung , Photo by Firsticent World