วันนี้สุดท้ายของปี 2561 ลาจาก หลังเที่ยงคืนต้อนรับปี 2562 ขอให้ปีใหม่และวันถัดไปสุขใจกายกันถ้วนทั่ว
สิ่งหนึ่งของพุทธศาสนิกชนสังคมไทยที่ถือปฏิบัติกันมากที่สุดของเช้าวันรุ่งขึ้นปีใหม่ คือ ทำบุญตักบาตร เดินสายไหว้พระพุทธปฏิมา ขอพรสิริมงคลแก่ชีวิตตนเองและครอบครัว
ในที่นี้ขอนำเรื่อง “ทำบุญตักบาตร” เป็นเกร็ดความรู้แก่พุทธศาสนิกชนบางท่านได้เข้าใจ ตักบาตร รับพร
เริ่มตั้งแต่คำว่า “บิณฑบาต” ซึ่งเป็นคำมาจากคำเดิมในภาษาบาลีว่า ปิณฺฑปาต (ปิณฑะปาตะ) มาจากคำ ปิณฑะ แปลว่า ก้อนข้าว และ ปาตะ แปลว่า ตก, ตกไป เมื่อรวมกันแล้วจะแปลว่า การตกไปแห่งก้อนข้าว หรือก้อนข้าวซึ่งเป็นอาหารที่ชาวบ้านถวายแด่พระสงฆ์ที่ตกลงในบาตร ส่วนกิริยาอาการที่เรานำของใส่ลงในบาตรพระสงฆ์นั้นจะใช้คำว่า “ตักบาตร” หรือ “ใส่บาตร” ก็ได้
บางคนอาจจะเห็นแย้งว่าจะใช้ “ตักบาตร” ได้อย่างไร เพราะเรานำเอาของเอาไปไว้ในบาตร จึงควรเรียกว่าใส่ เพราะการตักนั้นเป็นการใช้ภาชนะช้อนช้อนสิ่งของขึ้นมา ตรงนี้คงต้องอธิบายให้เข้าใจกันอีกนิดว่าคำ “ตัก” ที่ใช้เป็นตักบาตรนั้น มาจากคำว่า “ฎาก่” ในภาษาเขมร แปลว่า วางลง ดังนั้น ตักบาตร จึงหมายถึงการวางของลงในบาตร ซึ่งไม่ได้ต่างจากใส่บาตรแต่อย่างใด
ปกติเรามักเข้าใจว่ากิริยาที่พระสงฆ์อุ้มบาตรหรือสะพายบาตร เพื่อออกรับอาหารในตอนเช้า จะเรียกว่า บิณฑบาต แต่โดยความเป็นจริงแล้วความหมายของศัพท์บิณฑบาตไม่ได้แปลเช่นนั้นดังที่กล่าวไว้แล้ว ในทางภาษาบาลีจะเรียกการเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตว่า ปิณฑจาริก และจะมีวัตรปฏิบัติสำหรับพระภิกษุที่เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตว่า “ปิณฑจาริกะวัตร”
หากจะสรุปให้เข้าใจกันอีกครั้ง ก็คือ กิริยาที่พระภิกษุสงฆ์ไปรับอาหารในยามเช้า เรียกว่า “ปิณฑจาริก” ในขณะที่กิริยาที่ชาวบ้านถวายอาหารแด่พระสงฆ์โดยใส่ลงในบาตรของท่าน เรียกว่า ตักบาตร หรือ ใส่บาตร ส่วนอาหารที่อยู่ในบาตร เรียกว่า บิณฑบาต
พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาจึงควรพิจารณาด้วยปัญญาว่า อาหารที่ตนถวายไปนั้นเป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อร่างกาย พระสงฆ์ฉันไปแล้บรรเทาความหิวและไม่ก่อโรคภัยแก่ท่าน ทำให้ท่านมีกำลังปฏิบัติกิจทางพระศาสนาได้อย่างเต็มที่แล้ว
ในส่วนของพระภิกษุสงฆ์เองก็พึงระลึกเสมอว่า การบิณฑบาตนี้ ไม่ใช่เพียงการไปรับอาหารจากญาติโยมที่มีศรัทธาเท่านั้น แต่ยังทำให้ญาติโยมได้เกิด มงคล คือ “สมณานัญจะ ทัสสะนัง” คือ การได้เห็นสมณะนักบวชอีกด้วย ดังนั้นพึงรับบิณฑบาตโดยอาการสำรวมระวัง ไม่ควรตั้งเจตนาว่าจะไปเพื่อจะหาลาภผลหรือปัจจัยใดๆ พึงรับบิณฑบาตเพื่อนำอาหารมาฉัน พอให้ร่างกายดำรงอยู่เพื่อประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น และตั้งจิตเมตตาในชนทั้งหลายให้เสมอกันในทุกรูปนาม และอนุโมทนาในทานของญาติโยมผู้ถวายทุกคน
วิธีการถวายอาหารบิณฑบาตด้วยความเคารพและถูกต้องนั้น เราควรเตรียมอาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ไว้ให้พร้อม และยืนในที่ๆ จะมีพระภิกษุ หรือสามเณรผ่านมา เมื่อเห็นท่านก็อาราธนาให้ท่านรับอาหารบิณฑบาต โดยกล่าวว่า “นิมนต์ครับ/เจ้าค่ะ พระคุณเจ้า” หรือ "นิมนต์รับบิณฑบาตครับ/ค่ะ พระคุณเจ้า” จากนั้นจึงยกภาชนะใส่อาหารขึ้นเหนือศีรษะ แล้วกล่าวคำอธิษฐาน ก่อนนำอาหารใส่ลงในบาตรพระสงฆ์ เสร็จแล้ว พนมมือไหว้ ด้วยอาการอันเคารพ
มา ณ วันนี้ มีชาวพุทธจำนวนมากเข้าใจว่า พระสงฆ์เมื่อรับอาหารบิณฑบาตแล้วก็ต้อง ให้พร พระรูปไหนไม่ให้พร เป็นอันใช้ไม่ได้ หรือ ไม่ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ และเชื่อกันจนคิดว่า “ถ้าพระไม่ให้พร เราก็จะไม่ได้บุญ” จนเป็นเหตุตำหนิพระเลยก็ว่าได้
ความจริงแล้วการให้พรขณะบิณฑบาตนั้น ไม่ว่าพระท่านจะให้หรือไม่ก็ตาม บุญก็สำเร็จตั้งแต่เมื่อผู้มีศรัทธาได้ถวายอาหารนั้นไปแล้ว การให้พรของท่านก็เป็นเพียงการอนุโมทนาในทานที่ถวายเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องว่าจะได้บุญหรือไม่ได้บุญจากคำให้พรเหล่านั้นเลย อีกทั้งการให้พรนี้ท่านก็ต้องกระทำหลังจากเสร็จสิ้นการฉันทุกมื้อที่วัดอยู่แล้ว
อีกประการหนึ่ง สาเหตุที่พระสงฆ์บางรูปท่านไม่ได้ให้พรหลังจากรับอาหารบิณฑบาต ท่านทำแต่เพียงยืนสงบนิ่งครู่หนึ่ง แล้วก็เดินต่อไป ก็เป็นเพราะท่านปฏิบัติตามพระวินัยว่า “พระภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จะไม่แสดงธรรมแก่ผู้ไม่เป็นไข้ นั่งอยู่”
ด้วยเหตุที่ท่านทำบุญตักบาตรแล้วยังคงนั่งอยู่ การไม่แสดงธรรมด้วยการให้พรจึงถูกต้องแล้ว แต่อาจไม่ถูกใจญาติโยมทั้งหลาย ท่านจึงควรเอื้อเฟื้อพระคุณเจ้าตามพระวินัยของท่านด้วย ไม่ควรให้ท่านต้องฝ่าฝืนพระวินัย แม้จะเป็นข้อเล็กน้อยก็ตาม
ที่มาเรื่อง “ทำบุญตักบาตร” วัฒนรักษ์ ม.ค. 2555, บูรพา โชติช่วง เรียบเรียง ภาพประกอบ