ดีอี เตือน ข่าวปลอม “โนโรไวรัส คืออหิวาตกโรคที่กลายพันธุ์รักษาไม่หาย” อย่าเชื่อ-แชร์ หวั่นสร้างความกังวลให้กับปชช.
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “โนโรไวรัสคืออหิวาตกโรคที่กลายพันธุ์รักษาไม่หาย” รองลงมาคือเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ Meteor คืนค่าความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียด ป้องกันหัวใจวายและสโตรก” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความวิตกกังวล ความสับสน เข้าใจผิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 832,367 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 302 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 278 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 20 ข้อความ ช่องทาง Website จำนวน 2 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 140 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 42 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 59 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 46 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 3 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 10 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 22 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เรื่องของหน่วยงานรัฐ และเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง โนโรไวรัสคืออหิวาตกโรคที่กลายพันธุ์รักษาไม่หาย
อันดับที่ 2 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ Meteor คืนค่าความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียด ป้องกันหัวใจวายและสโตรก
อันดับที่ 3 : เรื่อง ตอนนี้ทั่วโลกไม่มีโรคโควิด-19 อีกแล้ว
อันดับที่ 4 : เรื่อง ไข่ขาวใช้รักษาแผลน้ำร้อนลวกได้ โดยทาทิ้งไว้จนแห้งแล้วล้างออก
อันดับที่ 5 : เรื่อง อาการหูแดงกว่าหน้าคือสิ่งสะท้อนว่า ไตทำงานหนัก
อันดับที่ 6 : เรื่อง ลูกใต้ใบใช้ช่วยบำบัดโรคต่อมลูกหมากโต
อันดับที่ 7 : เรื่อง SMS แนบลิงก์แจ้งยืนยันสิทธิ์เปลี่ยนหม้อมิเตอร์ใหม่ และรับส่วนลดค่าไฟ 3 เดือน
อันดับที่ 8 : เรื่อง กฟภ. เพิ่มช่องทางติดต่อผ่านไลน์ การไฟฟ้า E-Service
อันดับที่ 9 : เรื่อง เมฆเตือนภัย จะเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารประสบอุบัติเหตุ
อันดับที่ 10 : เรื่อง ลักษณะเมฆเป็นเรือสปีดโบ๊ท เป็นสัญญาณเตือนภัยที่เรือสปีดโบ๊ทจะล่ม
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ และเรื่องของภัยพิบัติ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความวิตกกังวล ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “โนโรไวรัสคืออหิวาตกโรคที่กลายพันธุ์รักษาไม่หาย” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า โนโรไวรัส เป็นเพียงหนึ่งในเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่มีมานานมากแล้ว แพร่ระบาดได้ง่ายช่วงอากาศเย็นในฤดูหนาวและฤดูฝน มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น ระยะฟักตัวเร็วเพียง 12-48 ชม. ผู้ป่วยมักมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งท้อง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ได้ อาการจะค่อย ๆ หายไปภายใน 1-3 วัน สำหรับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจมีอาการรุนแรงได้ หลังหายแล้วเชื้อยังคงอยู่ในอุจจาระได้นาน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ที่เว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/ หรือโทร 02-590-3000
ด้านข่าวปลอมอันดับ 2 “ผลิตภัณฑ์ Meteor คืนค่าความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียด ป้องกันหัวใจวายและสโตรก” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มีการโฆษณาคุณประโยชน์คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร โดยหากหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเสียโอกาสในการรักษาและอาจทำให้โรคลุกลามขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com