จำนวนเด็กไทยเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางนโยบายมีลูกเพื่อชาติ

“เป็นปีที่ 4 อัตราเพิ่มประชากรไทยติดลบ เพราะเด็กเกิดน้อยกว่าคนตาย”  

เด็กไทยเกิดปี 2567 มีจำนวน 461,421 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้มี “ลูกเพื่อชาติ” 
 

การติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของประชากรมาอย่างต่อเนื่องของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ประเทศไทยเคยมีเด็กเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงปี 2506-2526 และเคยมีเด็กเกิดจำนวนสูงสุดในปี 2514 มากถึง 1,221,228 คน ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีจำนวนเด็กเกิดต่ำ 6 แสนคนตั้งแต่ปี 2562 จำนวนเด็กเกิดได้ลดลงต่ำลงมาอีก จนในปี 2567 เด็กเกิดในประเทศไทยได้ลดลงมาต่ำกว่า 5 แสนคนเป็นปีแรก  


 
สถานการณ์เด็กเกิดน้อยเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร โดยจะเร่งการสูงวัยของประชากรไทยให้เร็วขึ้น จำนวนเด็กเกิดที่ลดลงอย่างมากนี้ ทำให้อัตราส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยเมื่อปี 2548 คือมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด จากนั้นประเทศไทยใช้เวลาอีกเพียงไม่ถึง 20 ปี จนกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2567 (อัตราส่วนผู้สูงอายุเกินกว่า 20 %ของประชากรทั้งหมด)  

 

“คนไทยเห็นด้วยว่า เด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ”
    

สถาบันวิจัยประชากรและสังคมได้สำรวจความเห็นประชาชนไทยจำนวน 1,042 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็นในประเด็น “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม 2567 พบว่า 


-    71% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยว่าจำนวนเด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ 
-    44% เห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น 


อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เห็นด้วยว่าจะมีลูกถ้าอยู่ในสถานะที่พร้อมจะมีลูก สัดส่วนผู้ชายตอบว่าจะมีลูกถ้าอยู่ในสถานะที่พร้อมมากกว่าผู้หญิง (ชาย 60% ต่อ หญิง 53%)   

                                         
ประชาชนที่อยู่ในสถานะสมรส ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 


-    เพียง 39% ที่ตัดสินใจมีลูกอย่างแน่นอน 
-    30% คิดว่าอาจจะตัดสินใจมีลูก 
-    20% จะไม่มีลูก 

 

แบบสำรวจถามด้วยว่า ถ้าท่านมีคู่รักหรือมีคู่แต่งงานแล้ว ยังมีสุขภาพแข็งแรง และอยู่ในวัยที่มีลูกได้ 


-    53% ตอบว่าจะมีลูก โดยเจนเนอเรชัน X ขึ้นไปมีสัดส่วนมากที่สุด (60%) รองลงมาคือ เจนเนอเรชัน Z (55%) และ Y (44%) ตามลำดับ 
ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า การตัดสินใจมีลูกมีความแตกต่างกันระหว่างเจนเนอเรชัน โดยกลุ่มเจนเนอเรชัน X มีแนวโน้มที่จะมีลูกสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ในขณะที่เจนเนอเรชัน Y มีสัดส่วนความตั้งใจมีลูกต่ำที่สุด ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจดังกล่าว อาจรวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ค่านิยมของแต่ละช่วงวัย และปัจจัยทางสังคมอื่นๆ เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับความสมดุลระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูบุตร 
การที่ประชากรเพียง 1 ใน 3 ของผู้ที่อยู่ในสถานะสมรส (36%) ยืนยันว่าจะมีลูก อาจเป็นสัญญาณที่แสดงถึงแนวโน้มอัตราเกิดที่ลดลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณา หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้มีจำนวนเด็กเกิดเพิ่มขึ้น 
กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พยายามผลักดันให้มีนโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 ปีแบบถ้วนหน้า แทนการสงเคราะห์เฉพาะผู้ปกครองในครัวเรือนรายได้น้อย (ครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี) ที่ปัจจุบันได้รับเงินอุดหนุนฯ ในอัตรา 600 บาท ต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนจะได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรา (ดูตาราง)

 


    
ผลการสำรวจความเห็นประชาชนไทยพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น (49%) ที่เห็นด้วยว่าเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจะช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะทำให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

การเกิดที่วัดด้วยอัตราเจริญพันธุ์รวม ซึ่งหมายถึง จำนวนลูกเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ต่ำกว่า 2.1 คน กล่าวคือ จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่าระดับทดแทนพ่อและแม่ ปัจจุบัน ประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน รวมทั้งประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำมาก  

อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) พ.ศ. 2567

เกาหลีใต้             0.72 
สิงคโปร์               0.94 
ประเทศไทย         1.03* 
จีน                     1.00 
อิตาลี                 1.20 
ญี่ปุ่น                  1.21 
สวีเดน                1.43 
เยอรมนี               1.44 
อังกฤษ               1.56 
สหรัฐอเมริกา        1.62 


หมายเหตุ: *คาดประมาณโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


รัฐบาลในหลายประเทศมีความพยายามจะสนับสนุนให้ประชากรของตนมีลูกเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้อัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศเพิ่มขึ้นได้มากนัก ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา สิงคโปร์ได้ดำเนินการมาตรการทางภาษีและเงินอุดหนุนหรือสมทบ นโยบายควบคุมและส่งเสริมการเกิดพิจารณาตามลำดับที่บุตร บริการหาคู่ นอกจากนี้ รัฐบาลยังตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจมีบุตรและการดูแลบุตร จึงสนับสนุนโครงการสมดุลชีวิตกับงาน (work-life balance) การเพิ่มจำนวนและคุณภาพของสถานเลี้ยงเด็ก 

อัตราเจริญพันธุ์รวมของสิงคโปร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการส่งเสริมการเกิดหลายอย่าง แต่อัตราเจริญพันธุ์รวมของสิงคโปร์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือเพียง 0.94 เท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะความกดดันทางเศรษฐกิจ ภาวะความเครียด วิถีชีวิตที่เร่งรีบ การเสียโอกาสการทำงานของแม่ และที่สำคัญคือค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงมากจนความช่วยเหลือที่รัฐบาลสนับสนุนไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำที่สุดในโลก (0.72) และได้กลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) อย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด สถานการณ์ทางประชากรนี้ทำให้ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ได้เสนอแนวคิดในการจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อการวางแผนและรับมือกับวิกฤตประชากรที่กำลังทวีความรุนแรง 

จากข้อมูลที่สำรวจ “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความท้าทายในการมีเด็กเกิดน้อยที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรของประเทศ แต่การตัดสินใจที่จะมีลูกยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น สถานภาพทางเศรษฐกิจ ความพร้อมทางสุขภาพ และบทบาททางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มีความลังเลมากกว่า 

แม้จะมีนโยบายส่งเสริมการมีบุตร แต่ยังจำเป็นต้องมีมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการและข้อกังวลของประชาชน เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การเพิ่มสวัสดิการสำหรับครอบครัว และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างสมดุล การลดช่องว่างระหว่างความตระหนักรู้และการลงมือปฏิบัติจริงจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโครงสร้างประชากรไทย

ติดตามการรายงานสถานการณ์ประชากรไทยและผลสำรวจความเห็นประชากรไทยต่อนโยบายประชากรในประเด็น “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” ได้จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2568 ได้ทาง facebook https://www.facebook.com/IPSRMAHIDOLUNIVERSITY

ผู้เขียน
รองศาสตราจารย์ ดร. จงจิตต์ ฤทธิรงค์ 
[email protected]
รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล