วันที่ 3 ม.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องประชุมวัฒนโกเมร ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสตูล อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล มอบหมายให้นางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมรับมอบนโยบายและข้อสั่งการประจำวัน จากห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ในการนี้มีนางสาววาสิฏฐี สาระพงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมพร้อมรายงานผลปฏิบัติการแต่ละด้าน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงกรุงเทพและพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่แล้ว ทำให้เส้นทางสายหลักมีสภาพการจราจรที่คล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ขับขี่บางรายอาจใช้ความเร็วสูงในการขับรถ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน จึงขอกำชับทุกจังหวัดดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น โดยยังคงการตั้งด่านตรวจและจุดตรวจเพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเพิ่มการตั้งจุดบริการประชาชนและจุดพักรถ เพื่อรองรับประชาชนที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานภายในจุดดังกล่าว เพื่อบริการประชาชนที่เหนื่อยล้าจากการขับรถและป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน
นอกจากนี้ ได้กำชับจังหวัดให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารและรถขนส่งสินค้า รวมถึงสภาพรถและระบบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง ไม่เพียงเท่านั้น จากสถิติที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมในการขับขี่ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการซ่อมแซม แก้ไข ติดตั้งไฟส่องสว่าง ป้าย หรือสัญญาณไฟแจ้งเตือน บริเวณถนนที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม หรือชำรุด ทางร่วม ทางแยก และบริเวณจุดเสี่ยงซ้ำซาก พร้อมกับปรับปรุงเส้นจราจรให้มีความชัดเจน เพื่อช่วยให้การจราจรมีความเป็นระเบียบและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เส้นทาง
ทั้งนี้สรุปอุบัติเหตุทางถนนภาพรวมภายในประเทศสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (27 ธ.ค. 67 – 2 ม.ค. 68) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,938 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,894 คน ผู้เสียชีวิต รวม 321 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (72 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (82 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (20 ราย)
ในส่วนของจังหวัดสตูล ได้สรุปรายงานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ ช่วงควบคุมเข้มข้น ในรอบ 24 ชั่วโมง ของวันที่ 2 มกราคม 2568 เกิดอุบัติเหตุรวม 7 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 6 ราย เป็นชาย 4 ราย และหญิง 2 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชาย 1 ราย สำหรับสถิติสะสม 7 วัน (27 ธ.ค.67 – 5 ม.ค.68) เกิดอุบัติเหตุทางถนนแล้ว 33 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 30 ราย เป็นชาย 16 ราย และหญิง 14 ราย โดยมีผู้เสียชีวิต 6 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุมาจากตัดหน้ากระชั้นชิด , หลับใน และดื่มแล้วขับ โดยพาหนะที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์