เปิดร่างแก้รธน.ฉบับพรรคประชาชน! ปรับเงื่อนไข ม.256 แก้หมวด1 - 2 คุณสมบัติ นักการเมือง ไม่ต้องผ่าน ประชามติ ออกแบบเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน  ให้สิทธิ นักการเมือง ถูกเพิกถอนสิทธิ สมัคร ส.ส.ร. ได้ ด้าน นิกร ชี้ทําประชามติแก้ รธน.256 เสี่ยงถูกร้อง ม.157 ส่อขัดจริยธรรม หวั่น 2 สภาแตกหักรุนแรง เชื่อร่าง"ปชน." เจอแรงต้านสูง ส่วน ชัยเกษม มั่นใจ รัฐบาล-นายกฯ อยู่ครบเทอม ชี้ปมร้อน ชั้น 14-เอ็มโอยู 44 ไม่มีปัญหา ขณะที่ วันนอร์ ชี้ นักการเมือง ไม่ใช่ อาชญากร โทษคดีการเมืองไม่ควรรุนแรงเกินความผิด ถึงขั้นตัดสิทธิ-ยุบพรรค
       


เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนและคณะ ได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยื่นต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค.2567 และประธานรัฐสภา เตรียมนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย หารือถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเตรียมวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่  8 ม.ค. นั้น
        
 ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่เอกสารร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่พรรคประชาชนเสนอแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ระบุในเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ถูกรับรองโดยกระบวนการประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม รวมถึงมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย จึงสมควรแก้ไข โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)  ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแก้ไข มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไข
        
 สำหรับสาระที่แก้ไขที่สำคัญ ได้แก่ แก้ไข มาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ โดยตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของ สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3  ออกไปและแทนที่ด้วย เสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน
        
 นอกจากนั้นได้ตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการทูลเกล้าฯถวาย ในมาตรา  256 (8) ในกรณี เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรรมนูญเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ รวมถึงได้แก้ไขความในมาตรา 256(9) ที่กำหนดสิทธิให้ สส. สว. หรือสมาชิกทั้ง2สภารวมกันเข้าชื่อ  เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อ มาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) เดิมใช้เกณฑ์เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 แต่ได้ปรับลดเหลือ 1 ใน 5 ขณะที่หมวด 15/1 ซึ่งเพิ่มใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น กำหนดให้มี ส.ส.ร.  200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยกติกาบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นเลือกแบบเขต โดยสมัครในนามบุคคล จำนวน 100 คน ให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และเลือกแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ได้กำหนดให้การเลือกแบบบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครเป็น สส. ต้องลงสมัครเป็นทีม  ทีมละไม่น้อยกว่า 20 คนแต่ไม่เกิน 100 คน
        
 ขณะที่คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร. อาทิ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีสัญชาติไทย ส่วนลักษณะต้องห้ามลงสมัครนั้น กำหนดไว้ 13 ข้อ โดยได้นำบทบัญญัติการห้ามลงสมัคร สส.มาบังคับใช้ ยกเว้น ข้อห้ามที่ระบุว่า อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ระหว่างการระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนและเพิ่มเติมคือ ห้ามข้าราชการการเมืองลงสมัคร รวมถึงเป็น สส. สว. รัฐมนตรี สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นด้วย
        
 ทั้งนี้ได้กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่มีเหตุให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จให้ กกต.รับรองผลภายใน15 วัน จากนั้นให้ส่งประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อ สส.ในราชกิจจานุเบกษาภายใน 5 วัน อย่างไรก็ดี ในคราวแรกเมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมใช้บังคับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ระบุว่าภายใน 30 วัน ให้ตราพระราชกฤษฏีกาเลือกตั้ง ส.ส.ร. และดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้เสร็จภายใน 60 วัน
        
 สำหรับการทำงานของ ส.ส.ร. นั้น ยังกำหนดไว้ด้วยคือ ต้องจัดประชุมส.ส.ร.ภายใน 15 วัน นับแต่ที่กกต.ประกาศผลเลือกตั้งส.ส.ร. และให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดระยะเวลาทำให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน นับจากวันประชุมนัดแรก หาก ส.ส.ร. ทำไม่เสร็จตามกรอบเวลาให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส่วนการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต้องทำทันทีที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ และทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่หากทำไม่เสร็จตามกรอบเวลาให้เป็นอำนาจของรัฐสภาดำเนินการ
        
 ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น พรรคประชาชนได้เสนอว่า ให้มีจำนวน 45 คน มาจาก การแต่งตั้งบุคคลที่เป็น ส.ส.ร. 2 ใน 3 หรือ 30 คนและกรรมาธิการอื่นประมาณ 15 คน โดยสามารถตั้งจากส.ส.ร.หรือไม่เป็นก็ได้ โดยให้คำนึงถึงความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่และมีจำนวนกรรมาธิการตามจำเป็น ส่วน ในขั้นตอนการเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคประชาชน กำหนดไว้ว่า ต้องให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้อภิปรายแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติ ภายใน 7 วัน เมื่อเสร็จสิ้นให้ กกต. นำไปออกเสียงประชามติภายในเวลา 90 - 120 วัน พร้อมกำหนดการตั้งคำถามประชามติด้วยว่าต้องชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และเป็นกลางต่อทุกฝ่าย พร้อมให้สิทธิ เสรีภาพกับประชาชนในการแสดงความเห็น เมื่อทำประชามติเสร็จให้ กกต.ประกาศผลภายใน 15 วัน
        
 กรณีที่ผลประชามติเห็นชอบด้วยให้ประธานส.ส.ร.นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่หากประชามติไม่เห็นชอบให้ถือว่าตกไป พร้อมกำหนดบทที่ใช้บังคับกรณีที่การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นตกไปด้วยว่า ให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติเพื่อจัดทำรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่ ได้ 1 ครั้งในสมัยของรัฐสภา โดยใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ และต้องมี สส.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3  ทั้งนี้ บุคคลที่เป็น ส.ส.ร. มาแล้วจะเป็นส.ส.ร. อีกไม่ได้  ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ยังได้กำหนดเพิ่มเติมด้วยว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี ที่สมาชิกภาพส.ส.ร. สิ้นสุด ห้ามดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี สส. สว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และอัยการสูงสุด
        
 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาชน (ปชน.) เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเรื่องการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน.ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ออกมาเผยไทม์ไลน์การซักฟอกจะเกิดขึ้นช่วงเดือนมีนาคม 2568 แน่นอน ว่า ล่าสุด กระบวนการคัดเลือกข้อมูลซักฟอกเบื้องต้นเสร็จสิ้นไปแล้วในเดือนธ.ค.2567  โดยพรรคปชน. มีการเปิดให้สส. ผู้มีความประสงค์จะผู้อภิปรายฯ ส่งข้อมูลของตนเองไปให้ยังคณะกรรมการฯผู้คัดเลือก โดยประกอบไปด้วยหลายฝ่ายในพรรค อาทิ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ฝ่ายนโยบาย และ นายวีรยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคปชน. รวมถึงนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคปชน. ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นต้น โดยคาดว่า การคัดข้อมูล และประเด็น รวมถึงขุนพลซักฟอก ของคณะกรรมการฯ จะสะเด็ดน้ำประมาณ ช่วงกลางเดือนกุมพาพันธ์ 2568 
        
 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบมีการลงมติ ตาม ม.151 ในสมัยประชุมนี้ ว่า ถือเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน ส่วนตัวคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นอยู่กับประเด็น เพราะคนที่ยื่นต้องชั่งน้ำหนัก สิ่งที่ยื่นไปมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ถ้าพูดไปแล้วน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง ก็จะเสียกับตัวผู้ยื่นเอง
         
เมื่อถามว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านเตรียมจะยื่น เช่น เรื่องชั้น 14 เอ็มโอยู 44  ประเมินแล้วมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เราคุยนานมมาแล้ว ตนเองเห็นว่าไม่น่าจะมีอะไร

         
นายชูศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่า นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะใช้อำนาจสั่งบรรจุร่างจะแก้ไขมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคประชาชน (ปชน.) จากเดิมที่จะไม่บรรจุ เพราะกลัวจะขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความเห็นของฝ่ายกฎหมายสภาฯ เปลี่ยนแปลงไป และได้มีการประสานไปยังแต่ละพรรคการเมืองว่า จะเสนอร่างประกบด้วยหรือไม่ ในส่วนพรรคเพื่อไทย ก็เคยเสนอไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้บรรจุ ซึ่งพรรคจะประชุมกันในวันที่ 7 ม.ค.นี้ ว่าจะเสนอร่างที่มีอยู่แล้วหรือไม่
         
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพรรคเพื่อไทย คือการแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการมี ส.ส.ร.200 คนแบ่งตามจังหวัดและจำนวนประชากร

   เมื่อถามว่ามีคนออกมาท้วงว่าหากไม่ทำประชามติ 3 ครั้ง จะผิดกฎหมาย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่ถ้าบรรจุไปแล้ว และหากมีคนขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ถือเป็นเรื่องดีจะได้วินิจฉัยไปเลยว่าสรุปแล้วจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้ง ทั้งนี้ หากทำประชามติ 2 ครั้ง มีโอกาสที่การแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จทันรัฐบาลนี้ เพราะจะย่นเวลาจากที่รอ 180 วัน
         เมื่อถามว่านายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่าการแก้มาตรา 256 เลย โดยไม่ทำประชามติก่อน เสี่ยงจะถูกร้องกฎหมายอาญามาตรา 157 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของสภาฯ ไม่ต้องวิตกกังวล ที่ผ่านมาเราคิดเรื่องนี้กันมาก แต่ลืมไปว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ เราก็ทำโดยสุจริตไม่ต้องกลัวอะไร ใครจะร้องก็ว่ากันไป
         นายชูศักด์ กล่าวถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้มีการพิจารณาว่าจะยื่นประกบกันหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะมีการพิจารณาในช่วงปลายสมัยประชุม ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทยได้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสร็จแล้ว แต่ให้รอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะยื่นตอนไหน ยืนยันว่าร่างของพรรคเพื่อไทยไม่มีนิรโทษกรรม มาตรา 112
         ด้าน นายนิกร จํานง เลขานุการกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และหมวด 15/1  ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้เสนอว่า เป็นความพยายามที่ตนเอาใจช่วย   แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะมีอุปสรรคและปัญหาทางนิติศาสตร์ อาจมีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ  ว่าทําได้หรือไม่   แต่ถ้าไม่มีการยื่นศาล   ก็อาจมีปัญหาเหมือนปี 2563 ที่สมาชิกรัฐสภามีความกังวลในการลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไข  มาตรา 256 เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ   เนื่องจากไม่มีการทำประชามติก่อน และจะเสี่ยงถูกร้องกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดมาตรฐานจริยธรรม นำไปสู่การถอดถอนได้
         นายนิกร  กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการพิจารณาในวาระ 1 โอกาสผ่านยากมาก แต่ถ้าผ่านไปได้ การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ในวาระ 2 ก็ยากพอกัน เพราะเนื้อในร่างแก้ไขของพรรค ปชน. ไปหักอํานาจของวุฒิสภา เน้นสภาผู้แทนราษฎรมากเกินไป นอกจากนี้ ยังไปถอด (8) ออกหมด ทําให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเปลี่ยนหลักการสำคัญ  เชื่อว่าจะมีแรงต่อต้านค่อนข้างมาก และจะมีปัญหาในวาระ 3 แน่นอน
         นายนิกร กล่าวอีกว่า การพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 256  จะทําให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างสองสภา อภิปรายปะทะกันหนัก  ดังนั้น ต้องระวังผลกระทบที่จะตามมาให้มาก หากไม่ได้อะไรขึ้นมา มีแต่จะเกิดบาดแผลความขัดแย้งที่ลึกลงไปอีก

         นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า หากมีเรื่องร้อนเข้ามาถ้าเราไม่ร้อนกลับไปมันก็ไม่แรง

         เมื่อถามว่า ขณะนี้มีประเด็นร้อน โดยเฉพาะเรื่อง ชั้น14 และเอ็มโอยู44 จะเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้หรือไม่ นายชัยเกษม กล่าวว่า คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างแก้ได้ ซึ่งตนเชื่อว่าทุกอย่างจะเดินไปได้ด้วยดี เพราะทุกคนอยากให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยกันทั้งนั้น และทุกอย่างจะคลี่คลายและไปต่อไปได้เรื่อยๆ
       "สำหรับตัวผมคิดว่าพอใจการทำงานของรัฐบาล เชื่อว่าในเมืองไทยมีแต่คนทำงานเพื่อชาติ และรักกันจึงไม่ต้องไปห่วง คนที่ไม่หวังดีต่อชาติยังมองไม่เห็นชัดๆซักคน และใครที่ไม่หวังดีต่อชาติ ต้องมีอันเป็นไปโดยสภาพของเขาเอง เราไม่ต้องไปทำอะไรหรอก"นายชัยเกษม กล่าว
         เมื่อถามว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะอยู่ครบวาระหรือไม่ นายชัยเกษม กล่าวว่า ท่านเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน เพราะฉะนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งคนที่จะไปก่อนเวลานั้นต้องมีเหตุ ซึ่งท่านเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน ก็เชื่อว่าจะอยู่ไปได้สบายๆ

         เมื่อถามน.ส.แพทองธาร มีอะไรต้องปรับปรุงในเรื่องการทำงานหรือไม่ นายชัยเกษม กล่าวว่า ท่านขึ้นมาเป็นนายกฯแล้วต้องรู้ดีกว่าคนอื่น ที่ท่านทำงานมา ตนก็คิดว่าท่านยังทำงานได้ราบรื่นดี เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปห่วงท่านหรอก ท่านฉลาดมาก และมีความเหมาะสมที่จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อถามว่า ได้เห็นการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยแล้วหรือไม่
         นายชัยเกษม กล่าวว่า ตนยังไม่เห็น จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรไปคงไม่ดี แต่คณะทำงานมีแต่คนเก่งๆทั้งนั้น เชื่อว่าคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

         เมื่อถามต่อไปว่า ขณะนี้นายชัยเกษมสุขภาพแข็งแรง พร้อมจะทำงานตลอดเวลา ใช่หรือไม่ นายชัยเกษม กล่าวว่า "ผมนี่พร้อมทำงานตลอดเวลาอยู่แล้ว สุขภาพผมก็ดีขึ้น ที่บอกว่าเดินป่วยเดินเป๋อะไรก็หายไปนมนานแล้ว"

         เมื่อถามย้ำอีกว่า หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง พร้อมจะทำงานเลยใช่หรือไม่ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า " ไม่มีปัญหา หมอบอกว่าผมโชคดีมหาศาล ที่เคยป่วยหายไปหมดแล้ว โรคทุกอย่างไปหมด จบ สบาย"

         ที่อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีสถานการณ์การเมืองปี 2568 มีโอกาสเกิดคดีความที่นำมาสู่การยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ สส. โดยระบุว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัย ไม่อยากมองในแง่ร้ายอย่างเดียวว่าทุกคดีจะจบที่การยุบพรรค หรือตัดสิทธินักการเมือง
       

 อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่ากฎหมายที่เป็นอยู่ในขณะนี้อาจจะมีความรุนแรงมากไป ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรากำลังทำอยู่นี้ อาจจะช่วยแก้ไขสิ่งเหล่านี้ไปได้ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่มีกฎหมายบังคับในทางการเมือง แต่โทษยุบพรรคหรือตัดสิทธิตลอดชีวิตจะค่อนข้างรุนแรงเกินไป เพราะนักการเมืองไม่ใช่อาชญากร
   

   นักการเมืองไม่ใช่อาชญากร เขาใช้สติปัญญา อาจจะตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ถ้าเราคิดว่านักการเมืองไม่ใช่อาชญากร โทษจึงควรสมควรกับความผิด ไม่ใช่การตัดสิทธิ 10 ปี 20 ปี ตลอดชีวิต หรือยุบพรรค พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ควรจะยุบ เราควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง หากยุบพรรคแล้วไปสร้างใหม่ พรรคการเมืองก็จะอ่อนแอตลอด นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว