10 วันอันตรายปีใหม่ 6 วันตายแล้ว 272 เจ็บ 1,694 คน อุบัติเหตุสูงสุด "สุราษฎร์ธานี"

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.68 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 เปิดเผยว่าวันนี้เป็นแรกของการเปิดทำงานหลังจากเทศกาลปีใหม่ ซึ่งประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ แล้วขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับทำให้เส้นทางสายหลัก เส้นทางสายรอง รวมไปถึงถนนในชุมชนหมู่บ้าน ยังคงมีปริมาณรถหนาแน่น และเมื่อคืนที่ผ่านมาหลังการเฉลิมฉลองปีใหม่ประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับทันทีทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ประสานทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนโดยให้เข้มข้นการตั้งด่านตรวจจุดตรวจ จุดสกัด บนถนนสายหลักเป็นระยะๆ ตลอดเส้นทาง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัย และการไม่คาดเข้มขัดนิรภัย โดยหากพบผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว นอกจากนี้ ให้ขนส่งจังหวัดดูแลความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้รถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง ขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมรถบริการรับ - ส่งผู้โดยสารจากสถานีขนส่งต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว และตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถและรถขนส่งสินค้า โดยจะต้องเปลี่ยนคนขับให้ปฏิบัติงานติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง หยุดพักขับรถไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงก่อนขับรถต่อได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง หรือมีพนักงานขับรถอย่างน้อย 2 คนเพื่อผลัดกันทำหน้าที่ และให้มีการตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพปลอดภัยก่อนเดินทาง 

“ศปถ. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถเร็วซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 6 โดยเน้นย้ำให้ใช้กลไกพื้นที่ โดยเฉพาะการตั้งด่านชุมชนหรือด่านครอบครัว เพื่อป้องปรามผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งนี้ ขอฝากให้ประชาชนขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด สวมใส่อุปกรณ์นิรภัยทั้งหมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย และมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง ตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ เส้นทางการเดินทาง รวมถึงสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง หากขับรถเป็นเวลานาน มีความรู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลีย ให้จอดพัก ณ จุดบริการประชาชน หรือจุดพักรถที่ทางราชการจัดสรรไว้ให้ตลอดเส้นทางการเดินทาง สำหรับประชาชนที่พบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 หรือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อนผ่าน Line@1784DDPM เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป“ อธิบดี ปภ. กล่าว 

ด้านนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สำหรับประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ได้เดินทางกลับกรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจนั้น คาดว่าประชาชนกลุ่มนี้จะยังอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องไปจนถึงวันเสาร์และวันอาทิตย์ และอาจเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพรและเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนำแนวทางการขับขี่ปลอดภัย แนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ไปติดตั้งประชาสัมพันธ์ตามศาสนสถานต่าง ๆ เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมเรื่องการขับขี่ปลอดภัยและสร้างการตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชน ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ลดจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตได้อีกทางหนึ่ง 

สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 1ม.ค.68 ซึ่งเป็นวันที่6 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1ม.ค. เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 346 คน ผู้เสียชีวิต 50 ราย 

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.94 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.56 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ16.81 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.42 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ81.12 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.71 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.09 

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01 - 01.00 น. เวลา 01.01-02.00 น. และเวลา 18.01-19.00 น.ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 24.49 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,774 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน50,744 คน 

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (24 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (36 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (7 ราย) 

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (27ธ.ค.67 – 1ม.ค.68) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,739 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,694 คน ผู้เสียชีวิตรวม 272 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสม สูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (73 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 12 ราย)