เลขาฯ มกอช. ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา ต้นแบบสร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ชุมชน พร้อมหารือ “ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ” ส่งเสริมเกษตรปลอดภัยระดับอาชีวศึกษา  

วันที่ 2 ม.ค.68 นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา ซึ่งเป็นวิทยาลัยฯ ที่เข้าร่วมโครงการสร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ชุมชน พร้อมร่วมหารือกับว่าที่ร้อยตรีประเสริฐ พรหมเผ่า ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา ถึงการส่งเสริมเรื่องเกษตรปลอดภัยให้กับนักศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษาด้านการเกษตรระดับอาชีวศึกษา ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ มกอช. ยังได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรและฟาร์มสาธิตของนักศึกษา โดยมีนางสาวศุภนารี  ณ มา หัวหน้าแผนกวิชาพืชศาสตร์ ครู คศ.2 นางเปรมหทัย  เขื่อนวัง ครูประจำงานฟาร์มพืชผัก ครู คศ.1 นายกำพล  วิชัยโน ครูประจำงานฟาร์มไร่ ครู คศ.2 และนางสาวศุภวรรณ  ฟักเขียว ครูประจำงานฟาร์มปุ๋ยอินทรีย์ ครูผู้ช่วย นำเยี่ยมชมและร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ 

​​​​​​​

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล กล่าวว่า โครงการสร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ชุมชน เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ มกอช. มุ่งเป้าไปที่ นักศึกษา ครูและบุคลากรในสถานศึกษาด้านการเกษตรระดับอาชีวศึกษา เพื่อที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ในขอบข่ายพืช ข้าว ประมง และปศุสัตว์ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการผลิตและบริโภคอาหารที่ปลอดภัย 

​​​​​​​ ​​​​​​​

ทั้งนี้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา ได้เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับรางวัลจาก มกอช.  ในปี 2563 คือ โครงการปลานิลจิตรลดา สินค้าเกษตร GAP รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำจืด (มกษ.7417-2559) ในปี 2564 โครงการปลาหมอปลูกรักษ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่ดี สำหรับฟาร์มสัตว์น้ำจืด (มกษ. 7417-2559) ในปี 2565 โครงการปลาดุกเกษตรเพื่อชีวิตมาตรฐานอาหารปลอดภัย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่ดี สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำจืด (มกษ. 7417-2559) ในปี 2566 โครงการปลาหางนกยูงปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มสัตว์น้ำจืดสวยงาม (มกษ. 7426-2555) ในปี 2567 โครงการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ตามมาตรฐานอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับความเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค (มกษ. 7436-2563)