นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการทำงานในปี 2567 และแผนงานในปี 2568 ว่า ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี 6 เดือนแล้วที่ได้ทำงานในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด ‘กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่’ ตนมองว่า ทุกโครงการที่ทำมีเป้าหมาย และมีความสำคัญเท่ากันทั้งหมด เพราะเมืองมีความหลากหลาย มีคนหลายกลุ่ม มีโครงสร้างและมีการปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา จะบอกว่าโครงการไหนสำคัญที่สุดไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นว่า “แล้วโครงการอื่นไม่สำคัญเหรอ?” ดังนั้น ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกด้าน แต่สิ่งที่จะเน้นเป็นพิเศษคือ ‘โครงการที่ไม่เป็นไปตามเป้า’ เช่น โครงการรถมอเตอร์แลนซ์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉินทางการแพทย์ สำหรับเข้าถึงผู้ป่วยได้รวดเร็ว ยังจัดซื้อได้ไม่ครบ โครงการก่อสร้างสถานีดับเพลิงเขตสายไหมยังออกแบบไม่เสร็จ และโครงการสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร ยังติดขัดเรื่องบ้านเรือนรุกล้ำอยู่บางส่วน ยังต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงยังดำเนินการไม่ได้ 100% ซึ่งต้องมีการติดตาม ตามเป้าหมายกำหนด
“เชื่อว่าสองปีครึ่งที่ผ่านมาไม่ได้เลวร้าย ถ้าดูจากเสียงสะท้อน (Feedback) หากมองในมุมกว้าง กรุงเทพฯ มีคนสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการบริการจาก กทม. เช่น คนที่ยังต้องส่งลูกไปเรียนโรงเรียน กทม. ไปโรงพยาบาล กทม. ใช้ทางเท้า กทม. และบริการเก็บขยะต่าง ๆ กลุ่มที่ได้รับบริการจาก กทม. ผมเชื่อว่าก็จะเป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตเขาดีขึ้น อันนี้ไม่ได้พูดแบบลำเอียง พูดจากการลงไปเจอจริง ๆ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่ค่อยได้ใช้บริการจาก กทม.เท่าไร ก็อาจจะไม่ค่อยเห็นว่าเราทำอะไร อาจต้องสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น”
นายชัชชาติ ยืนยันว่า เป้าหมายการทำงานยังเหมือนเดิม คือทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อดึงดูดคนเก่งและเป็นตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะหากขาดคนเก่งและแรงงานคุณภาพ เมืองจะเดินหน้าต่อไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาเมือง มีการแข่งขันสูงระหว่างเมืองในหลายประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนและเม็ดเงินจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ประเทศเวียดนาม มีหนุ่มสาวจำนวนมาก มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ หากกรุงเทพฯ ไม่สามารถพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ได้ สุดท้ายแรงงานจะหนีไปเมืองอื่น
ส่วนกุญแจสำคัญในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนคือ ‘ความโปร่งใส’ ตนมองว่าสิ่งนี้ไม่เป็นที่พูดถึงกันมากนัก จริงอยู่ ที่กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก แต่ยังไม่ใช่หมุดหมายสำคัญของนักลงทุน และแรงงาน ทำให้เมืองกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองประสิทธิภาพต่ำเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ที่มีความเข้มแข็งด้านกฎหมาย ทำให้เมืองเจริญได้ ซึ่งตนมองว่าส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เมืองมีประสิทธิภาพคือ ความโปร่งใส
กทม. ถือความโปร่งใสเป็นนโยบายหลัก และสิ่งที่ ‘ภูมิใจมากที่สุด’ คือการนำระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ มาใช้เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในการสร้างความโปร่งใส เพราะสามารถเปลี่ยนระบบการทำงานของราชการทั้งหมด ให้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา และรู้สึกว่ามีอำนาจและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเมืองมากขึ้น เมื่อประชาชนเห็นว่าปัญหาที่แจ้งไปได้รับการแก้ไข จึงเกิดความไว้ใจต่อภาครัฐมากขึ้น ขณะที่ กทม.ประเมินผลงานส่วนหนึ่งจากการแก้ไขปัญหาในระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ของแต่ละเขต ซึ่งมีผลชี้วัดชัดเจน ไม่สามารถใช้อภิสิทธิ์ใดไปกำหนดข้อมูลในระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ได้ เพราะประชาชนเป็นผู้แจ้งเข้ามา มีข้อมูลภาพถ่ายระบุชัดเจน แต่ละเขตจึงแก้ปัญหาตามที่ได้รับแจ้งอย่างเต็มที่ เพราะมีผลต่อการประเมิน ผอ.เขต
ปัจจุบันมีเรื่องแจ้งผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ทั้งหมดตั้งแต่ มิ.ย.65-ธ.ค.67 จำนวน 772,912 เรื่อง แก้ไขแล้ว 616,321 เรื่อง กำลังดำเนินการ 68,955 เรื่อง รอรับเรื่อง 610 เรื่อง ความพึงพอใจ 211,299 คะแนน (80%) ไม่พึงพอใจ 52,610 คะแนน (20%) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่อยู่นอกเวลาราชการ จากการเปิดรับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมา ใช้เวลาแก้ไขปัญหาลดลงเฉลี่ยจาก 2 เดือน เหลือ 2 วัน โดยมี 3 เขตที่ได้คะแนนความพึงพอใจจากประชาชนสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ เขตบางแค บางคอแหลม และหนองจอก
“แพลตฟอร์มนี้เข้ามาเปลี่ยนการทำงานโดยไม่ต้องรอคำสั่งผู้ว่าฯกทม. เชื่อว่าชีวิตคนรากหญ้าดีขึ้นเป็นผลจากแพลตฟอร์มนี้ เขตไหนทำงานดี ไม่ดี เรารู้จากคะแนนความพึงพอใจที่ประชาชนให้ ผอ.เขตที่แต่งตั้งเข้ามาดูจากผลงานเป็นหลัก และการตอบสนองประชาชน”
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ เพื่อลดปัญหาการเรียกรับเงินใต้โต๊ะ สร้างความโปร่งใส เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 สำหรับบ้านพักไม่เกิน 3 ชั้น ขนาดไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ดำเนินการไปแล้ว 12 เรื่อง ปัจจุบันตั้งเป้าให้การขอใบอนุญาตทั้งหมดต้องผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการสร้างความโปร่งใสด้านอื่น ๆ เช่น การใช้งบประมาณน้อยลงในการจัดการขยะฝังกลบจากเดิม 700 บาท/ตัน เป็น 500-600 บาท/ตัน ประหยัดงบประมาณลงวันละ 500,000 บาท รวมถึงการจัดการขยะทั้งหมด 16 โครงการ เช่น การจ้างเอกชนกำจัดสิ่งปฏิกูล ไขมัน เก็บขนมูลฝอย กำจัดมูลฝอย และเช่ารถเก็บขนมูลฝอยต่าง ๆ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 ถึงปัจจุบัน สามารถประหยัดงบประมาณ 3,572.83 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.23 เมื่อเทียบกับสัญญาโครงการที่ทำก่อนปี 2566
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในปี 2567 ผลงานที่เชื่อว่าดีขึ้นคือการแก้ไขเรื่องน้ำท่วม ซึ่งในช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่งมีจุดน้ำท่วม 12 จุด จากการสำรวจเก็บข้อมูลพบจุดเสี่ยงน้ำท่วมทั้งหมด 737 จุด แบ่งเป็น จากน้ำเหนือและน้ำหนุน 120 จุด น้ำท่วมจากน้ำฝนโดยสำนักการระบายน้ำ 144 จุด และจากสำนักงานเขต 437 จุด แก้ไขแล้วเสร็จ 155 จุด แก้ไขแล้วเสร็จบางส่วน 165 จุด อยู่ระหว่างแก้ไข 323 จุด
“เรื่องน้ำท่วมเชื่อว่าดีขึ้นในหลายจุด ที่ผ่านมามีแต่คนบอกว่าน้ำระบายเร็วขึ้น เพราะเราใช้หลักวิทยาศาสตร์ เราเอาจริงเอาจัง โฟกัสแต่ละจุด แต่การแก้แต่ละจุด ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมจำได้ไปแถวรัชดาโดนประชาชนด่าเรื่องน้ำท่วม ซึ่งการแก้ไขน้ำท่วมรัชดา จุดเดียวต้องใช้ถึงแปดโครงการในการแก้ไข ใช้เวลาประมาณปีครึ่งกว่าจะเสร็จ แล้วก็แก้น้ำท่วมได้ ผมว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราทำได้อย่างดี แต่ต้องมีการทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ลอกท่อ คลอง และต้องมีแผนแผนในการทำชัดเจน มีการติดตามแต่ละเขตให้เป็นไปตามเป้า เช่น แต่ละเขตมีการลอกท่อ ลอกคลองเท่าไรบ้าง และดำเนินการให้เสร็จตามกำหนด”
ส่วนด้านอื่น ๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น ด้านเดินทางดี มีโครงการ bike sharing กว่า 200 จุด มีจักรยานบริการกว่า 1,200 คัน ทำทางเท้าไปแล้ว 800 กิโลเมตร จากทั้งหมด 6,000 กิโลเมตร คาดว่าตลอด 4 ปีในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.จะทำได้ 2,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ มีการผายปากทางไปแล้ว 33 จุด จาก 187 จุด การติดตั้งระบบ Area Traffic Control แก้ปัญหารถติด โดยเชื่อมต่อสัญญาณไฟจราจรผ่านศูนย์ควบคุมแบบอัตโนมัติ อยู่ระหว่างติดตั้ง 72 จุด และอยู่ระหว่างของบประมาณเพิ่มอีก 200 จุด
ด้านสิ่งแวดล้อมดี มีการปลูกต้นไม้ไปแล้ว 1,225,336 ต้น สวน 15 นาที 179 สวน ตั้งเป้าปี 68 เพิ่มเป็น 357 สวน กำหนดพื้นที่เขตปลอดมลพิษลดฝุ่น PM2.5 มีรถบรรทุกลงทะเบียนร่วมโครงการประมาณ 4,700 คัน จากรถบรรทุกที่เข้ามาในเขตชั้นในกว่า 10,000 คัน โครงการแยกขยะ ทำให้ขยะลดลง 10% ประหยัดงบประมาณปีละกว่า 140 ล้านบาท และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเก็บขยะจาก 20 บาท เป็น 60 บาท สำหรับผู้ไม่แยกขยะตามบ้านเรือน และผู้ประกอบการที่มีขยะเกิน 1 ลบ.ม. จะเสียค่าธรรมเนียม ลบ.ม.ละ 8,000 บาท
ด้านสังคมดี โครงการ BKK Food Bank แจกอาหารไปแล้ว 104,514 คน คิดเป็น 3,532,185 มื้อ ลดการปล่อยคอร์บอนได้กว่า 2,127,721.82 kgCO e โครงการบ้านอิ่มใจที่ประปาแม้นศรี ช่วยเหลือคนไร้บ้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 68 และการจัดตั้งศูนย์กีฬาที่สวนเบญจกิติ ด้านสาธารณสุข ก่อสร้างและปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข ปี 66 จำนวน 12 แห่ง ปี 67 จำนวน 18 แห่ง ปี 68 ตั้งเป้า 22 แห่ง ปี 69 ตั้งเป้า 17 แห่ง ปี 70 ตั้งเป้า 13 แห่ง โครงการสร้างโรงพยาบาลใหม่ 3 แห่งในปีนี้ ที่เขตภาษีเจริญ สายไหม และทุ่งครุ จากเดิม กทม.มีทั้งหมด 11 โรงพยาบาล เพิ่มเป็น 13 โรงพยาบาล และการเปิด Health Tech อำนวยความสะดวกประชาชนผ่าน Telemed 7 แห่ง โครงการตรวจสุขภาพล้านคน ปัจจุบันตรวจไปแล้ว 726,786 คน คาดว่าจะครบ 1 ล้านคนในปี 2568 รวมถึงทำหมันหมาแมวและอื่น ๆ ไปแล้ว 177,277 ตัว ในปี 2567
ด้านเศรษฐกิจดี มีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผันกว่า 350 จุด ลดผู้ค้าลงกว่า 5,300 ราย พร้อมใช้เกณฑ์หาบเร่แผงลอยใหม่ ต้องเป็นผู้ยื่นภาษีมีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี มีการส่งเสริมถนนคนเดินและจัดกิจกรรมย่านต่าง ๆ ด้านปลอดภัยดี ติดตั้ง cctv จับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้าแล้ว 100 จุด เปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดีเกือบ 1 แสนดวง คาดว่าในช่วง 4 ปี ในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.จะเปลี่ยนครบ 2 แสนดวง มีการปรับปรุงสถานีดับเพลิง 17 แห่ง ติดตั้งเครื่องวัดน้ำหนักรถบรรทุกทุกสะพานในกรุงเทพฯ จับปรับแล้ว 49 คัน และการแจกถังดับเพลิงในชุมชน 36,000 ถัง
“ที่ผ่านมา หากเทียบเดือนต่อเดือนในปีนี้กับปีที่แล้ว กรุงเทพฯมีการตายลดลงเกือบ 10% ขณะที่ทั้งประเทศลดลง 1% เชื่อว่าเป็นผลจากการทำหลายเรื่องรวมกัน เช่น เพิ่มแสงไฟ ทางม้าลาย ไม่ใช่โครงการเดียวที่จะลดการตายได้ 10% หากทำต่อไป ปีหน้าน่าจะเห็นอีก 10%ได้”
ด้านเรียนดี จากโครงการดิจิทัล คลาสรูม เพิ่มคะแนนให้นักเรียนในทุกวิชา 28% โครงการเข้าอนุบาล 3 ขวบ ลดอายุเข้าเรียน เพิ่มเวลาผู้ปกครอง ดำเนินการแล้ว 300 ห้องเรียน มีนักเรียน 5,576 คน พร้อมปรับปรุงศูนย์เด็กอ่อน 131 ศูนย์ จาก 265 ศูนย์ เพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็น 32 บาท/วัน เพิ่มค่าตอบแทนอาสาดูแลเด็กตามวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ และจัดทำหลักสูตร Active learning และอบรมพัฒนาอาสาสมัครดูแลเด็ก
ด้านบริหารจัดการดี มีโครงการให้งบชุมชนละ 200,000 บาท มีชุมชนเข้าร่วม 300 ชุมชน เบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ไปแล้ว 238,236,198 บาท หรือ 59.35% ของงบส่วนนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บภาษีได้ถึง 119.84% จำนวน 26,005,102,626.56 บาท และในปี 68 จะเน้นการเก็บภาษีป้ายมากขึ้น และอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออก พรบ.ให้สามารถจัดเก็บภาษีบุหรี่ น้ำมัน และโรงแรม อยู่ในขั้นตอนพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย
ส่วนโครงการใหญ่ที่จะทำในปี 68 คือ โครงการเขื่อนกันน้ำทะเลกัดเซาะเขตบางขุนเทียน กว่า 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะเข้า ครม.วันที่ 17 ธ.ค.67 และโครงการศูนย์ราชการที่เขตคลองสาน บนพื้นที่ 12 ไร่ เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตคลองสานด้วย มีแนวคิดสร้างหอศิลปะประจำย่านฝั่งธนบุรีและเชื่อมโยงหน่วยงานราชการต่าง ๆ อยู่ระหว่างการออกแบบ อยู่ในปีงบประมาณ ปี 68 นอกจากนี้ จะเร่งดำเนินการด้านการจราจร ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุขให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนเรื่องอื่น ๆ ทำได้ดีพอสมควรแล้ว เช่น น้ำท่วม สวนสาธารณะ ทางเท้าและกิจกรรมต่าง ๆ
“รู้สึกว่า สองปีที่ผ่านมาเราได้ความไว้ใจจากประชาชนมากขึ้น ผมคิดว่าตั้งแต่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม. เราไม่ได้ขาดงบประมาณ แต่เราขาดความไว้ใจจากประชาชน คือเราไม่ไว้ใจประชาชน ประชาชนก็ไม่ไว้ใจเรา แต่พอเราสร้างความไว้ใจจากประชาชนได้ประชาชนจะมาช่วยเรามหาศาล จะเห็นว่ากิจกรรมต่าง ๆ จะมีเอกชนมาร่วม เช่น ปลูกต้นไม้ สิ่งสำคัญคือระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่สามารถสร้างความไว้ใจจากประชาชนได้ ถ้าประชาชนไม่ไว้ใจเขาไม่ถ่ายรูปแจ้งเรื่องมาให้เรา นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าเราได้กลับคืนมา” นายชัชชาติ กล่าว