เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี
ปี 2567 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปี ที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องสงครามในตะวันออกกลาง อิสราเอล-ฮามาสที่ยังยืดเยื้อไม่จบง่าย หรือแม้กระทั่งเรื่องการเมืองทั้งในและต่างประเทศ อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ การประกาศกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้
ส่วนการเมืองของไทยปีนี้ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน ทั้งเรื่องการตัดสินของศาลธรรมนูญที่ถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี การยุบพรรคการเมือง การข้ามขั้วจับมือเป็นพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองแตกกันเป็นเสี่ยง ๆ “ทีมข่าวการเมืองสยามรัฐ” รวบรวมบุคคลทางการเมืองที่โดดเด่นจากเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้
“ทักษิณ ชินวัตร” กลับมาใหญ่ !?
เมื่อทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กลับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา เริ่มมีบทบาททางการเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อได้รับการลดโทษจาก 8 ปีเหลือเพียง 1 ปี จากนั้นเป็นการพักโทษ 6 เดือน และได้รับการอภัยโทษ จนทำให้ทักษิณ พ้นโทษเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
การก้าวเดินของทักษิณทางการเมืองก็เริ่มที่จะฉายแสงมากขึ้น แต่อาจจะมีมาแล้วตั้งแต่ที่กลับไทย อย่างการที่บรรดาคนการเมือง ทั้งเกลอเก่า สส. พรรคร่วมรัฐบาล ต่างตบเท้าเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า เสมือนว่าทักษิณคือ หัวหน้ารัฐบาล
และที่กลายเป็นประเด็นดรามาคงหนีไม่พ้น จากเหตุการณ์ พรรคร่วมรัฐบาลเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง จนสุดท้ายการหารือนั้นก็มีชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” มานั่งในตำแหน่งนายกฯ ซึ่งกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จนมีการร้องเรียน 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 67
แต่เมื่อสื่อสอบถามเรื่องนี้กับทักษิณ ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่มีอะไรเลย คืนที่พรรคร่วมเข้าไปบ้านจันทร์ส่องหล้า ไปกินมาม่า มาม่าอร่อย”
ดูเหมือนข่าวดีของ ทักษิณ จะยังไม่จบ เพราะเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีมีผู้ร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เอื้อประโยชน์ให้ทักษิณ พักที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
ถือเป็นการล้างมลทินจนตัวสะอาดกริ๊บ ทั้งยังเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งส่งผลดีให้กับพรรคเพื่อไทยที่ “นายใหญ่” หรือท่อน้ำเลี้ยงนี้กลับมานำทัพคนเสื้อแดง ด้วยการประเดิมสนามเลือกตั้ง นายก อบจ. ที่นายใหญ่ลงไปช่วยหาเสียงและคว้าชัยกลับมา
คงต้องรอลุ้นว่าในวันที่ 1 ก.พ. 68 ที่การเลือกตั้งนายก อบจ. จะสิ้นสุด นายใหญ่ทักษิณ จะสามารถนำทีมเพื่อไทยคว้าพื้นที่ได้กี่จังหวัด และเพื่อเป็นหยั่งเสียงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ว่า นายใหญ่ทักษิณ จะกลับมาทวงบัลลังก์ได้หรือไม่
"เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯ 358 วัน !
เป็นเรื่องที่ไม่ใครคาดคิดเมื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผันตัวเองมากจากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับต้นๆ ของประเทศ มาอยู่ในเส้นทางการเมือง
แต่เส้นทางการเมืองที่ เศรษฐา เป็นอันต้องจบลง ในวันที่ 14 ส.ค. 67 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
สืบเนื่องจากกรณีที่ เศรษฐา แต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมา เศรษฐา ก็ได้ออกมายืนหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ที่ใช้นั่งทำงาน เพื่อแถลงกับสื่อมวลชนครั้งสุดท้ายในทำเนียบฯ และในฐานะอดีตนายกฯ ว่า
“ น้อมรับคำตัดสินของศาล และยืนยันว่าตลอดระยะเวลาการเป็นนายกฯ ได้ทำอย่างเต็มที่ด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใครเป็นการส่วนตัว มั่นใจว่า เป็นคนมีจริยธรรม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องที่ถูกร้องที่ตัดสินนั้น ยอมรับว่าเสียใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วย ขอน้อมรับคำตัดสิน”
ถือเป็นการปิดฉากทางการเมืองของ นายกฯ เศรษฐา หรือ “นายกฯ นิด” บนเส้นทางการเมืองที่ไม่ได้จบอย่างสวยหรูตามที่ควรที่จะเป็น แม้จะได้มีชื่อว่าเป็น นายกฯ ของไทย คนที่30 แต่คำวินิจฉัยที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุ ว่า
“ไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ก็เหมือนกับเป็นตราบาปให้กับเศรษฐาไปตลอดกาล ทั้งนี้เมื่อนับระยะเวลาที่ เศรษฐา อยู่ในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 รวมทั้งสิ้น 358 วัน เท่านั้น ปัจจุบันเศรษฐายังคงเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และเข้าร่วมกิจกรรมของพรรค
“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร “ป.” สุดท้าย รอปิดสวิตช์
จากพี่ใหญ่ 3 ป. “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” อดีตนายกรัฐมนตรี กลายมาเป็นเพียงหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคฝ่ายค้าน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ
ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจัดทัพใหม่ ที่มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ โดยเลือกที่เขี่ยพรรคพลังประชารัฐ ออกจากสมการพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลปิดสวิตช์ 3 ป. “นายใหญ่” ไม่เอา “ลุงป้อม” และสุดท้ายพรรคเพื่อไทย ก็มีมติไม่เอากลุ่มพล.อ.ประวิตร ร่วมรัฐบาล แต่ยังคงผูกมิตรกับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่ขณะนั้นเป็น เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอยู่
กลายเป็นว่า พรรคประชารัฐ แตกเป็น 2 กลุ่มระหว่างกลุ่มลุงป้อม และกลุ่มผู้กอง และมีภาพการเช็กเสียงออกมา กลุ่มลุงป้อมไปรวมตัวที่มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ส่วนกลุ่มผู้กอง ก็มารวมตัวกันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เจ้าตัวนั่งเป็นเจ้ากระทรวง
สุดท้ายฝ่ายลุงป้อมก็ต้องจบเกมด้วยการเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ยื่นเรื่องร้องเรียนรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันคนใกล้ตัวก็ทยอยโดนคดีต่างๆ ทั้งเรื่องดิไอคอน เรื่องการบุกรุกไร่ภูนับดาว รวมถึงการแตกหักกับ ร.อ.ธรรมนัส ที่จบลงด้วยการขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ปล่อยให้กลุ่มร.อ.ธรรมนัส ไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อพรรคว่า “กล้าธรรม”
ที่กำลังจะกลายเป็น พรรคการเมืองใหม่ที่มีสส.ในมือ ไม่ต่ำกว่า 20 สส. ซึ่งมีรายงานว่า พรรคกล้าธรรม เตรียมแต่งตัวรอเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย อย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งปี 2570
“นายกฯอิ๊งค์” มีวันนี้ เพราะ “พ่อ” ให้ !
เป็นการส่งไม้ต่อจาก “เศรษฐา ทวีสิน” สู่ “แพทองธาร ชินวัตร” นั่งนายกฯ คนที่ 31 ของประเทศไทย โดยพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา กลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในนามพรรคกล้าธรรม และสุดท้ายกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ยกคนมาเกือบหมดพรรค เพื่อมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
การมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ แพทองธาร ที่เป็นตำแหน่งสูงสุดของประเทศ ทันทีที่มีชื่อออกมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ด้วยอายุที่ยังน้อย ประสบการณ์ไม่โดดเด่น แม้จะประกอบธุรกิจหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะสามารถบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีได้
กระแสโจมตี แพทองธาร ก็มีมาโดยตลอด รวมถึงตอนที่ไปร่วมประชุมเวทีผู้นำในต่างประเทศ จากกรณียกไอแพดส่วนตัวมาอ่านโพย ช่วงแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีโลกในนามนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งคนใกล้ชิดต่างก็ออกมาปกป้อง แต่ตัว แพทองธาร เองที่ออกมาชี้แจงแบบโนสนโนแคร์ และยังคงใช้ไอแพดในการทำงานต่อไป ล่าสุดก็ยังหยอกสื่อประจำทำเนียบฯ ที่ได้ตั้งฉายาให้ว่า “แพทองโพย” ว่า “เราเป็น “แพทองแพด” เพราะเราใช้ไอแพด ไม่ได้ใช้โพยเพราะโพยต้องเป็นกระดาษ
ส่วนเรื่องการทำงานในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้นก็ได้วางตัวลุง ป้า น้า อา คนคุ้นสมัยรุ่นพ่อมาช่วยกันทำงาน จะเห็นได้จากในช่วงวันแรกๆ ที่แพทองธารมาทำงาน ที่เวลาไปงานไหน ประชุมเรื่องต่างๆ หรือแม้กระทั้งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก็จะมี “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย ไปด้วยแทบทุกครั้ง
ยังรวมไปการตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ นำโดย “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” ประธานที่ปรึกษา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา และที่ปรึกษาประกอบด้วย ศุภวุฒิ สายเชื้อ , ธงทอง จันทรางศุ และพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นที่ทำงาน โดยนายกฯ จะเวลา 1 ครั้งต่อสัปดาห์ไปปรึกษาหารือและขอคำแนะนำ
วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ แพทองธาร จะได้ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองว่า การที่มาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่อยู่ใต้เงา ทักษิณ ชินวัตร คนเป็น และไม่ใช่คำที่คนพูดกันว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”
“อนุทิน ชาญวีรกูล” นำ “ภูมิใจไทย” กินรวบ !
"ภูมิใจขวาง" เป็นฉายาที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งให้กับ ”อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่มี สส.รองจากพรรคเพื่อไทย ที่ยกมือค้านทุกเรื่องทั้ง กฎหมายนิรโทษกรรม คดีการเมือง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เรื่องการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex)
นับรวมเกมในรัฐสภาที่มีตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานสภา และสภาสูง วุฒิสภาที่จำนวน สว.สายสีน้ำเงิน ถึง 2 ใน 3 จาก 200 คน และคนที่นั่งเป็นประธาน สว. “มงคล สุระสัจจะ” ก็ยังเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ อีกด้วย ก็ถือได้ว่า ภูมิใจไทย มีชัยเหนือกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นในเกมสภา
แม้ว่าเกมในสภาภูมิใจไทยจะเหนือกว่า ทำให้ทุกครั้งเวลาประเทศมีวิกฤติ หรือเกิดกระแส “นายกฯ คนนอก” อนุทิน จะทำตัวเหมือนว่าจะถึงวันนั้น แต่จนแล้วจนรอดกลับมีภาพ เสี่ยหนูพา “เนวิน ชิดชอบ” ประธานบริหารสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เข้าพบ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
หรือแม้กระทั่งตอนที่ ทักษิณ ไปพูดในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่จัดขึ้นที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า มีพรรคร่วมรัฐบาล ชิ่งหนีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยอ้างว่าป่วย ไม่ใช่เลือดสุพรรณ และ “เกลียดพวกอีแอบ” นั้นทำให้บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคภูมิไทยต่างออกมาชี้แจง
แต่ล่าสุดได้มีภาพทักษิณ อนุทิน ออกรอบตีกอล์ฟ เป็นการสยบข่าวว่า ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ใช่อีแอบพรรคร่วมรัฐบาล !