นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 23 – 29 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 10,430,360 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาลงทุนผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนลงทุนเทรดหุ้นสกุลเงิน ต่างประเทศ ตนสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line สอบถามรายละเอียดและสมัครสมาชิก จากนั้น มิจฉาชีพส่งลิงก์เว็บไซต์เพื่อทำการลงทุนและดึงเข้า Group Line ช่วงแรกได้ผลตอบแทน สามารถถอนเงินได้จริง ต่อมาให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น ภายหลังตนต้องการถอนเงินแต่มิจฉาชีพ แจ้งว่าตนทำรายการผิดพลาดจะต้องโอนเงินไปเพื่อให้ทางระบบเปิดให้ทำการแก้ไข ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 1,999,960 บาท โดยผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ Flash Express แจ้งว่าสินค้าที่สั่งไว้จัดส่งไม่สำเร็จและมีลิงก์ให้เพิ่มเพื่อนผ่าน Line จากนั้นให้ ติดตั้งแอปพลิเคชันและกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อตรวจสอบสถานะการจัดส่งพัสดุ ต่อมา ภายหลังตนจะชำระสินค้าโดยโอนเงินผ่าน Mobile Banking จึงพบว่ายอดเงินในบัญชีได้ถูก โอนเงินออกไปจนหมด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ  มูลค่าความเสียหาย 1,999,603บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ Shopee แจ้งว่าผู้เสียหายเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ส่งท้ายปี จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line และส่ง รางวัลสินค้าให้เลือก ต่อมาดึงเข้า Group Line เพื่อให้ยืนยันสิทธิ์และร่วมทำกิจกรรมกด ติดตามเพจที่กำหนด โดยให้โอนเงินเข้าไปในระบบก่อนและจะได้รับค่าคอมมิชชันเป็นการ ตอบแทน ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ผู้เสียหายจึงเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปในระบบมาก ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้และไม่ได้รับรางวัลสินค้า ตนเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพ หลอก

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 1,671,000 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ใช้โพรไฟล์เป็นชายหนุ่ม หน้าตาดีทำงานอยู่ต่างประเทศ และได้เพิ่มเพื่อนทาง WhatsApp พูดคุยสนทนากันจนสนิท ใจแต่ยังไม่เคยพบเจอกัน จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่ากำลังเดือดร้อนเนื่องจากบัญชีธนาคารถูก ระงับไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว จำเป็นต้องโอนเงินไปให้เพื่อนเพื่อทำธุรกิจในประเทศไทย จึงขอร้องให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ก่อนและจะคืนเงินให้เมื่อบัญชีธนาคารสามารถใช้งานได้ ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้ง ต่อมาตนเริ่มสงสัยจึงขอ VDO Call ฝ่ายชายปฏิเสธและ ทำการบล็อกไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5  คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 2,460,768 บาท โดยผู้เสียหายถูกชักชวนลงทุนหารายได้พิเศษอ้างผลตอบแทนดีผ่านช่องทาง Tiktok จากนั้น เพิ่มเพื่อนทาง Line มีการส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว และให้โอนเงินลงทุนซื้อสินค้าโดยจะ ได้รับค่าคอมมิชชันเป็นการตอบแทน ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่ามีกิจกรรมต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ให้เข้าร่วม เป็นการกดติดตามเพจที่แนะนำ หากทำตามจนครบที่กำหนดจะได้รับเงินจำนวน มาก ระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังมิจฉาชีพให้ลงทุนมากขึ้น ตนต้องการขอ ยกเลิกภารกิจและถอนเงินคืน มิจฉาชีพอ้างว่าต้องทำกิจกรรมให้ผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ก่อน จึงจะได้รับเงินทั้งหมดคืน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 18,561,691 บาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 27 ธันวาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,339,271 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,166 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 449,335 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,179 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 135,853 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 30.23 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 108,157 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.07 (3) หลอกลวงลงทุน  66,246 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.74 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 40,932 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 9.11 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 34,237 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.62 (และคดีอื่นๆ 63,910 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.23) 

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการต่างๆ หลอกลวงผู้เสียหาย ทั้งการหลอกให้ลงทุนชวนเทรดหุ้น-ซื้อสินค้า อ้างได้ผลตอบแทนดี หรือได้รับของรางวัล ผ่านช่องทาง Facebook , TikTok ,Line รวมทั้งหลอกให้รัก ก่อนติดตั้งแอปฯดูดเงิน ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการ ร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ  หรือถูกอ้างว่ามีได้รับรางวัลโดยไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ และความปลอดภัย ต่อการถูกหลอกลวง ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆ ในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ควรติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
|  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com