ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ แต่ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันก็ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยทั้งต่อเกษตรกร และหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ฝังรากลึกและแพร่กระจายไปทั่วทุกวงการ เมื่อเร็วๆ นี้คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีการถกกันเรื่องปัญหามันสำปะหลังลักลอบนำเข้าที่ยังหาเจ้าภาพรับผิดชอบไม่ได้ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง หรือแม้กระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

แม้ว่าเราได้เห็นข่าวเกี่ยวกับคอร์รัปชันหลากหลายรูปแบบ ทั้งการฉ้อโกงประชาชน ทุจริตในโครงการต่างๆ รับสินบน หรือใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างการทำงานของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยยังขาดระบบการตรวจสอบที่ไม่เข้มงวด ขาดความโปร่งใส เปิดช่องให้เกิดการทุจริต และมีวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับการทุจริตเป็นเรื่องปกติ กระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวต่างชาติ แต่ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาทุจริตคอรับชั่นตามมาเป็นปัญหาเรื้อรัง

ผลจากการทุจริตที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งในสังคมไทยคือการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจใต้ดิน ที่เกี่ยวโยงกับการค้าสินค้าผิดกฎหมาย ทั้งของปลอมละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงของเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายด้วย เพราะหากไม่มีคนมีอำนาจเบื้องหลัง ก็คงจะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายได้ไม่เต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้กล่าวว่าธุรกิจใต้ดินในไทยนั้น มีมูลค่ากว่า 49% ของ GDP ประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องนำธุรกิจเหล่านี้ขึ้นมาบนดิน เพื่อดึงรายได้กลับเข้าระบบ และนำไปพัฒนาประเทศ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป

แต่ปัญหานี้ ไม่ได้แก้กันง่ายๆ เพราะถ้าใครๆ ก็ทำได้ ดัชนีการรับรู้คอร์รัปชันของไทยคงไม่ได้คะแนนเพียง 35 จาก 100 คะแนน เพราะแม้ว่าจะพยายามแค่ไหน แต่ถ้ากฎหมายยังมีช่องโหว่ก็ไม่สามารถปราบทุจริตได้หมด ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ได้แก่ ปัญหาการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างผิดกฎหมายเช่น หมูเถื่อน มันสำปะหลังเถื่อน ที่สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรที่เป็นประชากรกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย โดยสินค้าเหล่านี้ เมื่อถูกลักลอบนำเข้ามาโดยช่องทางต่างๆ จะพบกับการตรวจสอบ และปราบปรามของเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรมศุลกากร กรมการปกครอง ตำรวจ ทหาร แต่ไม่มีกฎหมายอะไรเลยที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามสินค้าเกษตรที่ถูกลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายโดยตรง ทำให้การดำเนินงานของภาครัฐยังไม่รัดกุมเข้มข้นเพียงพอ จนเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต้องท้อใจ

ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศหนึ่งที่เจอสถานการณ์สินค้าเกษตรเถื่อนคล้ายประเทศไทย ได้ออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทำลายเศรษฐกิจภาคการเกษตร (Anti-Agricultural Economic Sabotage Act.) เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะครอบคลุมพืช ผัก เนื้อสัตว์ ที่เป็นสินค้าเกษตรโดยตรงแล้ว ยังมีขอบข่ายการบังคับใช้กฎหมายถึงบุหรี่ที่เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วย เพราะอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนของประชาชนฟิลิปปินส์มีสูงถึง 15.2% ของตลาดบุหรี่ทั้งหมดในปี 2565 กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้การลักลอบนำเข้า กักตุน แสวงกำไร รวมกลุ่มผูกขาด และการสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับเป็นเงินสามเท่าของมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ยึดได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหรือจัดเก็บสินค้าเหล่านี้ด้วย

เมื่อภาครัฐไทยใส่ใจกับการต่อต้านคอร์รัปชัน พลิกเศรษฐกิจใต้ดินเพื่อเพิ่มรายได้รัฐแล้ว ต้องไม่ลืมเรื่องของปากท้องประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากด้านการเกษตรที่ยังต้องทนทุกข์กับปัญหาของเถื่อนด้วย เพราะหากไม่มีประชาชนรากหญ้า ก็คงไม่มีรัฐบาลในวันนี้