หมายเหตุ: รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” กับสยามรัฐวิเคราะห์ เจาะลึกการเมืองปี 2568 จะเดินหน้าไปในท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ และความขัดแย้งเข้มข้นหรือไม่ และอย่างไร เสถียรภาพของรัฐบาล “แพทองธาร” จะสามารถยืนระยะจนครบเทอมหรือไม่ และการเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จะมีผลบวกหรือลบอย่างไรต่อรัฐบาล รวมทั้งการชุมนุมต่างๆจะสามารถจุด “รัฐประหาร” ติดหรือไม่
-มองการเมืองปี 2568 อย่างไรบ้าง
การเมืองปี 2568 เป็นการเมืองที่มุ่งไปสู่การเลือกตั้งปี 2570 หรืออาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นการเมืองที่เข้มข้นดุเดือด ตั้งแต่เวทีท้องถิ่นไปจนถึงการเมืองระดับชาติ ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญคือเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจไม่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญที่สุดในปี 2568 นั้น เรื่องของเศรษฐกิจ
-ที่บอกว่าอาจเกิดการเลือกตั้งเร็วมาจากปัจจัยอะไร
การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเร็วก็น่าจะมาจากการยุบสภาฯ ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่การยุบสภาฯจะเกิดขึ้นในภาวะที่ฝ่ายบริหารมีความได้เปรียบ ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจไปในทิศทางเชิงบวก และพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถที่จะเดินกันต่อได้
โดยหลักการยุบสภาฯจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติมีความขัดแย้งกัน ไปด้วยกันไม่ได้ แต่วันนี้จะเห็นได้ว่าเป้าหมายทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองก็ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้งที่รออยู่ข้างหน้า เพราะฉะนั้นถ้ายังต้องระดมทรัพยากร สรรพกำลังทางการเมืองต่างๆด้วยกันอยู่ เชื่อว่าไม่มีพรรคไหนถอนตัว
แม้ว่าก่อนหน้านี้ คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯออกมายิงหมัดตรง ถึงบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พูดถึงเรื่องอีแอบ พูดถึงเรื่องใครไม่อยากอยู่ร่วมรัฐบาลก็ให้ออกไป ตรงนี้ก็กลายเป็นโจทย์ที่สะท้อนให้เห็นว่าก็คงไม่ง่ายที่จะเห็นการยุบสภาฯเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ก็ไม่ปิดโอกาสว่าการยุบสภาฯไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ มันก็มีโอกาสที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน
-จะเห็นว่าการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลระหองระแหงกัน โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยออกมาขวางหลายเรื่อง ทั้งการทำประชามติ 2 ชั้นจะส่งผลต่อการร่วมรัฐบาลหรือไม่
มองว่าเป็นปัจจัยที่ปกติ ไม่มีอะไรเลย แต่ละพรรคมีจุดยืนทางการเมือง มีทัศนคติต่างๆที่ไม่เหมือนกัน แต่อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจในหลายๆเรื่องที่ผ่านมา เช่นกฎหมายประชามติ รายงานนิรโทษกรรม การแก้ไขกฎหมายกลาโหม มีความเห็นที่แตกต่างจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย แต่ก็สามารถพูดคุยกันได้อย่างลงตัว
โดยในช่วงหลังก็มีภาพคุณทักษิณ ที่ไปตีกอล์ฟกับคุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตรงนี้ก็ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา สุดท้ายทุกอย่างภายใต้ภาวะรัฐบาลผสมก็ต้องอาศัยการพูดคุยกัน เจรจากัน ต่อรองกัน ซึ่งก็เป็นปกติ แต่ที่สุดแล้วทุกอย่างไปกันได้ เป้าหมายของทุกพรรคก็ยังตรงกันอยู่ แม้รัฐบาลจะไม่เห็นเหมือนกันทั้งหมด แต่ว่าก็สามารถที่จะเดินต่อไปได้
- การกลับมาของคุณทักษิณที่ดูเหมือนจะมี Power มากต่อรัฐบาลชุดนี้ในทุกๆด้าน จะส่งผลอะไรหรือไม่
คุณทักษิณกลับมาครั้งนี้เป็นการเดินทางการเมืองที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของทางพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ที่จะใช้การเมืองคู่ขนาน ที่จริงเราเห็นตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2566 แล้ว ในนามของครอบครัวเพื่อไทยกับพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าคุณทักษิณจะเดินการเมืองแบบคู่ขนาน โดยอยู่ในส่วนของการเมืองที่ไม่เป็นทางการ แล้วนายกฯก็อยู่ในการเมืองที่เป็นทางการ ขับเคลื่อนนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุนกันขับเคลื่อนงานต่างๆของรัฐบาล
เราก็จะเห็นบทบาทของคุณทักษิณในเวทีการเมืองท้องถิ่น หรือการลงไปกระชับโครงสร้างทางอำนาจของพรรคเพื่อไทยระดับพื้นที่ต่างๆเหล่านี้ ถามว่าตรงนี้ทำได้ไหมก็ได้ตราบใดที่คุณทักษิณยังไม่ก้าวเข้าไปสู่โซนอันตราย ที่จะนำไปสู่การยุบพรรค สามารถทำได้ไม่มีปัญหาอะไร แล้วเราก็จะเห็นการเมืองคู่ขนานแบบนี้ ในปี 2568อีก
-การเลือกตั้งรอบหน้า เราจะได้เห็น "พรรคการเมือง" บางพรรคต้องยุติบทบาทหรือไม่ อย่างพรรคพลังประชารัฐ มีข่าวมาตลอดว่า "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะวางมือ
ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองที่เป็นพรรคขนาดกลางค่อนไปทางเล็กโอกาสจะอยู่ต่อยาก ด้วยกติกาทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 หรือบริบทแวดล้อมทางการเมืองต่างๆ ก็จะทำให้อยู่กันยาก กรณีของพรรคพลังประชารัฐครั้งหน้าถ้าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจจะเดินหน้าต่อ สุดท้ายแล้วถามว่าจะได้กลับมาเท่าไหร่ เป็นไปได้ที่อาจจะเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งต่ำสุดก็มีโอกาส แล้ววันนี้อย่าลืมว่าด้วยสถานการณ์การเมือง ก็ทำให้นักการเมืองหลายส่วนต้องปรับตัว
หรือแม้กระทั่งพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งในอดีตมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ เป็นจุดขายของพรรค เมื่อไม่มีพล.อ.ประยุทธ์แล้วจะเอาอะไรมาขาย เพราะฉะนั้นแล้วก็จะเห็นว่าคุณทักษิณก็พยายามที่จะตีเมือง ตีพรรคการเมืองขนาดกลางค่อนข้างเล็ก เพื่อที่จะทำให้ทางเดินของพรรค และสส.ในพรรคเหล่านี้ทำให้แคบลง ก็จะทำให้บรรดาสส.เหล่านี้วิ่งมาสู่พรรคการเมืองอื่น หรือวิ่งไปสู่พรรคการเมืองขนาดใหญ่
อย่างในกรณีอีกพรรคหนึ่งที่เรามองข้ามไปไม่ได้เลย ก็คือ พรรคประชาชาติ ซึ่งวันนี้มีฐานอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สุดท้ายพลังประชารัฐในภาคใต้ครั้งที่แล้วก็ได้มาหลายที่นั่ง อาจจะมีคนหนึ่งที่วิ่งไปสู่พรรคประชาชาติก็ได้ หรืออาจจะมีพรรครวมไทยสร้างชาติที่คนจำนวนหนึ่งก็วิ่งออกไปสู่พรรคอื่น ไปก่อกำเนิดเป็นพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นอนาคตของพรรคการเมืองขนาดกลาง ที่ค่อนไปทางเล็กจะเดินต่อได้ยากในการเลือกตั้งครั้งหน้า
-อย่างพรรคกล้าธรรม ที่ดึงสส.จากพรรคพลังประชารัฐไปจะอยู่ได้หรือไม่
ผมว่าพรรคกล้าธรรม เป็นพรรคที่ต้องจับตาเลย ณ วันนี้เราจะเห็นว่าพรรคกล้าธรรมหลังจาก 20 สส.ของพลังประชารัฐ มาเติมพรรคก็โตขึ้นอย่างกะทันหัน มาสู่พรรคที่มีถึง 26 ที่นั่ง เพราะไปรวมบรรดาพรรคขนาดเล็ก ก็เรียกว่ามีที่นั่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว
ซึ่งทำให้เห็นว่าในอนาคตพรรคกล้าธรรมก็จะเป็นอีกพรรคหนึ่งที่ต้องติดตามเลย ว่าจะเดินต่ออย่างไรแล้วอย่าลืมเลยว่าจุดที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการโยกย้ายสส.ของพลังประชารัฐเข้ามาสู่พรรคกล้าธรรม ก็คือไทมิ่งที่ทำให้คุณทักษิณตัดสินใจเดินหน้าชนทางการเมือง เดินหน้าชนไปสู่คำว่าอีแอบทางการเมือง หรือใครไม่อยากอยู่ในรัฐบาลก็ไป ก็ทำให้เห็นภาพได้ว่าการเกิดขึ้นของพรรคกล้าธรรม คือฐานที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้
และนั่นทำให้คุณทักษิณ มีความมั่นใจในฐานะพรรคแกนนำ ที่จะเดินเกมทางการเมือง เพราะวันนี้หากมีพรรคการเมืองที่ถอยไปสักหนึ่งพรรค หรือถ้าเป็นพรรคขนาดเล็กๆถอยไปสักสองพรรคก็ไม่เป็นอะไร เพราะเสียงรัฐบาลมีท่วมท้น คือประเด็นที่น่าสนใจสำหรับพรรคกล้าธรรม เพราะฉะนั้นจะเป็นฐานของพรรคเพื่อไทย การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งหน้าด้วย
-บทบาทของฝ่ายค้านในสภาฯของพรรคประชาชน
ฝ่ายค้านมีประเด็นที่น่าสนใจมากคือเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้านก็มีปัญหาไม่น้อย ณ วันนี้ส่วนของพรรคประชาชนเองยังไม่สามารถหา “แม่เหล็ก” เข้ามาทำงานได้ เพราะในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นยังคงต้องยืมตัวคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คุณชัยธวัช ตุลาธน คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าพรรคไม่สามารถมีแม่เหล็กที่จะมาดึงคะแนนตรงนี้ได้
ขณะเดียวกันเอกภาพในฝ่ายค้านเช่นการทำงานระหว่างพรรคประชาชนกับพลังประชารัฐ หรือประชาธิปัตย์ที่ยังตกค้างอยู่ จะทำงานอย่างไร ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้าจะเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าฝ่ายค้านจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่
เพราะฉะนั้นถ้าจะให้คะแนนตั้งแต่ตั้งพรรคประชาชนทำงานมาประมาณ 4-5 เดือนยังไม่เห็นความโดดเด่นอะไรมากนัก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของทางพรรคประชาชน ถ้าเราย้อนไปดูโครงสร้างสส.ของพรรคประชาชนซึ่งในอดีตก็คือพรรคก้าวไกลได้ชัยชนะมา 150 กว่าที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อประมาณ 70 -75 เปอร์เซ็นต์ บวกกับสส.ในกรุงเทพฯและในเขตเมืองใหญ่ก็เท่ากับว่าฐานของเดิมมีอยู่แค่นี้ การจะขยายฐานได้มากกว่านี้ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ง่าย สำหรับพรรคประชาชน
-การเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นกปปส. ,จตุพร พรหมพันธุ์, คนคลั่งชาติไปถึงคุณสนธิ ลิ้มทองกุล แนวรบด้านนี้จะปลุกให้เกิดรัฐประหารอีกรอบหรือไม่
การเคลื่อนไหวทางการเมืองสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือความสำเร็จที่ปลายทาง ถ้าย้อนกลับไปดูการชุมนุมทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าท้ายที่สุดความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การเคลื่อนไหวของประชาชน ทั้งสองครั้งจบลงด้วยการรัฐประหาร ในปี 2549 และในปี 2557
ถ้าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้ปูทางทำให้เกิดรัฐประหารได้ก็ไม่ส่งผลอะไร ขณะเดียวกันทุนสนับสนุน หรือโอกาที่จะเปิดในกรณีที่มีวิกฤต หรือความชอบธรรมขณะนี้ก็ยังไม่มี คงไม่ง่ายที่จะทำให้ม็อบอยู่ปักหลักพักค้าง เพราะขณะนี้มีการเปลี่ยนรูปโฉมของม็อบไป ไม่ใช่เป็นการเมืองบนท้องถนน แต่เป็นการเมืองที่เข้าสู่โลกไซเบอร์
โดยเฉพาะการชุมนุมระยะหลังของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เมื่อปี 63-64 เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้ปักหลักพักค้าง มาแล้วเขาก็ไป แต่ขณะเดียวกันมีการเคลื่อนไหวในโลกโซเซียลอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างเอฟเฟกต์ทางการเมืองได้มากกว่า ก็อาจจะทำให้สังคมได้เรียนรู้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องลงในท้องถนน ยังมีพื้นที่ในโลกไซเบอร์ต่างๆอีกทางหนึ่ง
เพราะฉะนั้นผมว่าการชุมนุมครั้งนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะการรัฐประหารณวันนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปโฉม จากการใช้ความรุนแรง ใช้กองทัพ ใช้ทหาร มาเป็นรถถัง ใช้ดอกไม้ หรือการยึดไมโครโฟนในปี 57 ก็ได้ เพราะฉะนั้นความคิดที่บอกว่าชุมนุมเพื่อปูทางการที่จะมีทหารมายึดอำนาจ ไม่ได้เป็นความคิดที่สามารถขับเคลื่อนได้จริงในยุคสมัยนี้ แต่มีเรื่องของการปรับเปลี่ยนการรัฐประหารไปสู่รูปโฉมต่างๆมากขึ้น
-อะไรที่ทำให้คุณทักษิณมั่นใจว่ารัฐบาล ของนายกฯแพทองธาร จะไม่มีรัฐประหาร
คงมั่นใจในแง่ของเสียงในสภาฯ เคยเจอบทเรียนในการรัฐประหารมาโดยตรง และมีความใกล้ชิดรัฐบาลสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จบลงด้วยการรัฐประหาร คิดว่าคุณทักษิณก็คงจะถอดบทเรียนพอสมควรที่จะป้องกันระมัดระวังองคาพยพต่างๆ